สังคม การเมือง วัฒนธรรม ความเคลื่อนไหวเจาะลึกในเอเชีย

จักรพรรดิใหม่ ญี่ปุ่นใหม่:

การสละราชสมบัติเพื่อให้พระจักรพรรดิและญี่ปุ่นในรัชสมัยเรวะได้ก้าวต่อไปพร้อมกับโลกในยุคใหม่

เมื่อเดือนเมษายน 2562 ได้มีเหตุการณ์สำคัญสำหรับชาวญี่ปุ่น นั่นคือพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ หรือจักรพรรดิเฮเซ (Emperor Heizei) ทรงสละราชสมบัติ เปิดทางให้มงกุฎราชกุมารนารุฮิโตะขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระจักรพรรดิองค์ที่ 126 แห่งประเทศญี่ปุ่น  พระจักรพรรดิเป็นองค์ประมุขและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวญี่ปุ่น  ช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านและการสืบราชสมบัติในครั้งนี้มีนัยที่น่าสนใจมากมาย
 
พระจักรพรรดิอากิฮิโตะเป็นพระจักรพรรดิองค์ที่ 125 ของประเทศญี่ปุ่น  ตามปกติการสืบราชสมบัติของญี่ปุ่นเกิดขึ้นเมื่อพระจักรพรรดิองค์เดิมสวรรคต พระจักรพรรดิอากิฮิโตะจึงขึ้นครองราชย์ในวันที่ 7 มกราคม 1989 หลังจากที่พระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ (จักรพรรดิโชวะ) สวรรคต โดยรัฐบาลได้จัดให้มีพิธีราชาภิเษกในวันที่ 12 พฤศจิกายน 1990  เป็นพระจักรพรรดิองค์แรกที่ขึ้นครองราชย์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในฐานะที่เป็นคนรุ่นเก่า (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) ที่เข้ามารับบทบาท สถานะ และหน้าที่ของพระจักรพรรดิที่ถูกเปลี่ยนไปตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญใหม่  ตามความเชื่อของลัทธิชินโต ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าพวกตนสืบเชื้อสายมาจากเทพีอะมาเทราสึผ่านทางพระจักรพรรดิ พระจักรพรรดิผู้สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากพระเจ้า จึงได้รับการยกย่องประดุจเป็นพระเจ้า ส่วนชาวญี่ปุ่นก็เป็นลูกหลานที่สืบเชื้อสายต่อๆ กันมา แนวคิดนี้มีผลต่อวิธีคิดของชาวญี่ปุ่นว่าพวกตนเองแตกต่างและอยู่เหนือชนชาติอื่นๆ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกนำไปใช้ในระหว่างสงครามโลก ฉะนั้น เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามและถูกควบคุมโดยสหรัฐฯ สหรัฐฯจึงออกข้อกำหนดบทบาทใหม่ของพระจักรพรรดิตามรัฐธรรมนูญว่าเป็นประมุขและศูนย์รวมจิตใจของชาวญี่ปุ่น ท่านไม่มีพระราชอำนาจทางการเมือง อีกทั้งยังได้มีการกำหนดว่ากิจการของรัฐต้องแยกออกจากกิจการของศาสนา  เพื่อไม่ให้มีการนำความเชื่อทางศาสนามาใช้ก่อให้เกิดสงครามอีก ทั้งสองข้อกำหนดนี้ทำให้ตลอดรัชสมัยของจักรพรรดิเฮเซ ท่านต้องระมัดระวังและใช้วิจารณญานอย่างละเอียดเป็นพิเศษในฐานะพระจักรพรรดิ ขั้นตอนการสืบทอดราชบัลลังก์อันเนื่องจากการสละราชสมบัติในครั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องไตร่ตรองกันอย่างถี่ถ้วน
 
พระจักรพรรดิอากิฮิโตะ มีพระชนมายุ 84 พรรษา ทรงประสูติในวันที่ 23 ธันวาคม 1933  เพียง 2 ปีหลังจากเหตุการณ์แมนจูเรีย ซึ่งญี่ปุ่นได้รุกรานจีนและนำไปสู่การลาออกจากสันนิบาตชาติ จึงเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตในช่วงสงครามที่ญี่ปุ่นเริ่มจากมีชัยชนะในการต่อสู้แต่ในที่สุดกลายเป็นผู้พ่ายแพ้ในสงคราม จากสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ภายหลังสงครามจนในที่สุดญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก  เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดในปี 1945 เจ้าชายอากิฮิโตะในขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา ได้รับการอบรมบ่มเพาะตามขนบประเพณีของญี่ปุ่นเพื่อเตรียมพร้อมที่จะต้องเป็นพระจักรพรรดิในวันข้างหน้า แต่สถานะของพระจักรพรรดิตามรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน  ประเด็นคำถามสำคัญที่ท่านต้องเผชิญคือ บทบาทของพระจักรพรรดิในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่น และการเป็นประมุขที่ไม่มีอำนาจทางการเมืองคืออย่างไร
 
หลังจากที่ญี่ปุ่นทำสนธิสัญญาสงบศึกกับนานาประเทศและกลับเข้าสู่สังคมโลกอีกครั้งในปี 1952 มกุฎราชกุมารอากิฮิโตะได้รับมอบหมายให้เสด็จแทนพระองค์พระจักรพรรดิโชวะไปในงานบรมราชาภิเษกของพระราชินีเอลิซาเบธที่สองของอังกฤษ ในปี 1953 นับเป็นการจัดวางตำแหน่งของญี่ปุ่นในสังคมโลกภายหลังสงคราม จึงถือว่าเป็นภารกิจที่ท้าทายมากสำหรับมกุฎราชกุมารที่มีพระชนมายุเพียง 19 พรรษาจากประเทศผู้แพ้สงคราม ไม่เพียงเท่านั้น ความโหดร้ายทารุณของทหารญี่ปุ่นในระหว่างสงครามก็กำลังเป็นที่กล่าวถึง เช่น ความทารุณที่กระทำต่อทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควในประเทศไทยเป็นเรื่องที่กำลังถูกเผยแพร่ ซึ่งญี่ปุ่นถูกต่อว่าต่อขานโจมตีไปทั่วโลก  กล่าวกันว่าการเสด็จอังกฤษในครั้งนั้นนอกจากจะมีผลต่อการสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพระราชวงศ์อังกฤษกับญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ยังเป็นการประกอบสร้างโลกทัศน์เกี่ยวกับการเป็นจักรพรรดิที่ครองราชย์แต่ไม่ได้ปกครองให้แก่มกุฎราชกุมารด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนที่มกุฎราชกุมารจะเสด็จกลับ ภายในประเทศอังกฤษกระแสการต่อต้านญี่ปุ่นจากการกระทำในระหว่างสงครามก็สงบเงียบลง เท่ากับว่าท่านสามารถสยบความไม่พอใจต่างๆ ลงได้
 
มกุฎราชกุมารอากิฮิโตะได้เข้าพิธีสมรสกับนางสาวมิชิโกะ โชดะบุตรสาวของตระกูลนักธุรกิจ ในปี 1959 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงให้เราเห็นว่าพระจักรพรรดิเลือกวิถีชีวิตของตนเอง ในยุคนั้นการแต่งงานระหว่างเจ้านายกับคนธรรมดาไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะในยุคก่อนสงครามการแต่งงานต้องดูความเหมาะสมของครอบครัวมากกว่าความพอใจของบ่าวสาว กล่าวคือสมาชิกของราชสกุลมักจะแต่งงานกับราชสกุลด้วยกันหรือไม่ก็แต่งกับบุตรสาวของครอบครัวขุนนางบางตระกูล ที่ดูมีศักดิ์เสมอกัน  ในกรณีนี้ได้มีความพยายามที่จะเลือกหญิงสาวจากตระกูลที่เหมาะสมอยู่เป็นเวลานานหลายปี แต่ในที่สุดมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะก็เป็นผู้เลือกเจ้าสาวของท่านเอง ข่าวการแต่งงานจึงเป็นข่าวดีที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นรู้สึกว่าสังคมญี่ปุ่นกำลังจะเข้าสู่สังคมยุคใหม่ นอกจากจะเลือกเจ้าสาวด้วยตนเองแล้ว การตัดสินใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยตนเองแทนที่จะมีพี่เลี้ยงที่รับไปดูแล แสดงถึงทัศนคติที่ทันสมัยมากสำหรับยุคนั้น
 
พระราชกรณียกิจ
 
ตลอด 30 ปีของรัชสมัยเฮเซ ประเทศญี่ปุ่นต้องประสบกับภัยพิบัติอย่างรุนแรงหลายครั้ง ทั้งยังมีเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำที่ทำให้ประชาชนได้รับความยากลำบากมากมาย พระจักรพรรดิและพระจักรพรรดินีได้เสด็จไปทั่วประเทศญี่ปุ่น ร่วมสุขร่วมทุกข์และให้กำลังใจแก่ผู้ที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ เช่น ในปี 1995 เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เขตฮันชิน-อะวาจิ และในพื้นที่โทโฮกุหลังจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ ที่สำคัญที่สุดและเป็นที่กล่าวขานกันมากคือในปี 1973 มกุฏราชกุมารอากิฮิโตะเสด็จเยือนโอกินาวาตั้งแต่ในช่วงที่โอกินาวาเพิ่งกลับคืนสู่ญี่ปุ่น ท่ามกลางการต่อต้านอย่างรุนแรงจากชาวโอกินาวา พระองค์เสด็จไปวางพวงมาลาในพื้นที่ที่เคยเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ๆ ได้พบกับครอบครัวของผู้ที่สูญเสียจากสงคราม ได้มีพระราชดำรัสที่แสดงความเสียใจในความทุกข์ยากของคนเหล่านั้น ในฐานะมกุฎราชกุมาร พระองค์เสด็จกลับไปเยือนโอกินาวา 5 ครั้ง และเมื่อทรงครองราชย์แล้วยังได้เสด็จเยือนโอกินาวาอีก
 
--------------
ดูเหมือนว่าพระองค์มีพระประสงค์ให้สงครามเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจดจำ สงครามสร้างความเสียหายให้กับทุกฝ่าย และสงครามเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก
-------------- 
 
ในด้านการต่างประเทศพระองค์ได้เสด็จพร้อมกับพระจักรพรรดินีไปปฏิบัติพระราชภารกิจมาแล้วใน 27 ประเทศในฐานะจักรพรรดิ หากรวมประเทศที่เสด็จในระหว่างที่เป็นมกุฎราชกุมารจะเป็นการเสด็จเยือนทั้งสิ้น 50 ประเทศ[1]  พระองค์ให้ความสำคัญต่อการเสด็จไปในพื้นที่ที่มีประวัติเป็นพื้นที่สู้รบของทหารญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม เช่น ประเทศจีน ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะต่างๆ ในแปซิฟิก เช่น ปาเลาและไซปัน พระองค์เน้นการแสดงความเสียใจต่อผู้ที่เสียชีวิตและเสียหายในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวญี่ปุ่นหรือชาติใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเยือนที่สำคัญในปี 1992 พระองค์เสด็จประเทศจีน เป็นพระจักรพรรดิญี่ปุ่นองค์แรกที่ได้เสด็จเยือนประเทศจีน ท่ามกลางการเตรียมพร้อมว่าอาจเกิดมีเหตุการณ์ไม่สงบได้ทุกเมื่อ แต่พระจักรพรรดิได้มีพระราชดำรัสแสดงความเสียใจที่ในบางช่วงของประวัติศาสตร์ ประเทศญี่ปุ่นได้เคยสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวจีน และหวังว่าเหตุการณ์เช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก เป็นการช่วยให้บรรยากาศในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นดูดีขึ้น พระจักรพรรดิยังได้เสด็จเยือนเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการสิ้นสุดสงคราม การเสด็จเยือนในพื้นที่เหล่านี้ท่านได้แสดงให้เห็นถึงพระราชดำริว่าชาวญี่ปุ่นควรได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของสงครามเพื่อใช้สำหรับการเตรียมวางทิศทางของประเทศในอนาคต ดูเหมือนว่าพระองค์มีพระประสงค์ให้สงครามเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจดจำ สงครามสร้างความเสียหายให้กับทุกฝ่าย และสงครามเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก
 
จากการสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับราชสำนักโดยสำนักข่าว NHK ตลอดรัชสมัย พระจักรพรรดิอากิฮิโตะมีพระราชดำริของท่านเองว่าบทบาทของท่านในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศคืออย่างไร  พระราชภารกิจของพระองค์ทำให้เราเข้าใจได้ว่าการตีความเรื่องบทบาทของพระจักรพรรดิในยุคเฮเซต่างไปจากในยุคก่อนสงครามที่พระจักรพรรดิมีสถานะเป็นดุจเทพเจ้า การแสดงพระประสงค์ที่จะสละราชสมบัติด้วยเหตุผลด้านพระพลานามัยยังน่าจะเป็นการแสดงให้เห็นด้วยว่าพระจักรพรรดิก็มีข้อจำกัดไม่ต่างไปจากคนอื่นๆ
 
พระประสงค์สละราชสมบัติ
 
พระจักรพรรดิอากิฮิโตะแสดงพระประสงค์ที่จะสละราชสมบัติตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2016 ประเด็นเกี่ยวกับข้อกำหนดตามกฎหมายในพระราชสำนักและรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและทำให้เกิดความยากลำบากต่อฝ่ายพระจักรพรรดิพอสมควร พระจักรพรรดิได้แสดงพระราชดำริโดยอ้างถึงพระพลานามัยที่ถดถอยลงไปตามเวลา จึงเกรงว่าจะไม่สามารถปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศได้เต็มที่ ท่านมีพระราชดำริว่าแม้จะสามารถแต่งตั้งผู้แทนพระองค์เพื่อปฏิบัติพระราชภารกิจแทนได้ แต่หากพระจักรพรรดิสวรรคตลง สังคมญี่ปุ่นจะต้องหยุดนิ่ง ประชาชนต้องประสบความยากลำบากในการพิธีเกี่ยวกับพระบรมศพซึ่งก็จะต้องทำกันเป็นเวลานานอาจถึง 1 ปี อย่างไรก็ตาม กฎหมายเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ได้กำหนดว่าพระจักรพรรดิทรงครองราชย์จนกว่าจะสวรรคต ไม่เพียงแต่การสละราชสมบัติจะไม่สามารถเป็นไปได้ตามกฎหมาย แต่การที่พระจักรพรรดิจะบอกกล่าวโดยตรงให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายให้ทรงสละราชสมบัติได้ก็อาจถูกตีความว่าเป็นการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการทางการเมือง อาจถึงกับเป็นการปะปนระหว่างกิจการของรัฐกับกิจการทางศาสนา จักรพรรดิอากิฮิโตะจึงได้แต่เพียงแสดงพระราชดำริให้ได้ยินกัน
 
ปรากฎการณ์สละราชสมบัติเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นมากว่า 200 ปี (ครั้งล่าสุดปี 1817[2]) สังคมญี่ปุ่นได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับประเด็นนี้ ประเด็นที่ได้รับการถกเถียงกันมาก เช่น ควรมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์หรือไม่ หรือควรเป็นการออกกฎหมายเฉพาะสำหรับการสละราชสมบัติในครั้งนี้เท่านั้น หากจะถือโอกาสจัดให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ควรจะได้มีการพิจารณาถึงการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ได้ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้บนพื้นฐานที่ว่า ญี่ปุ่นถือว่าราชสกุลของพระจักรพรรดิของตนสืบเนื่องยาวนานมาอย่างไม่ขาดสายจากการที่พระจักรพรรดิสามารถมีพระสนมได้หลายพระองค์ แต่มาในยุคของจักรพรรดิโชวะได้ยกเลิกธรรมเนียมนี้ไป ในปัจจุบันเนื่องจากจำนวนของสมาชิกพระราชวงศ์มีแต่จะลดน้อยลงไป จำนวนผู้ชายที่จะเป็นสายเลือดของสมาชิกพระราชวงศ์ชายยิ่งมีน้อยกว่า
 
ในอันที่จริงประเด็นเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ได้มีการถกเถียงกันตั้งแต่ปี 2005 ในช่วงนายกรัฐมนตรีโคอิสุมิ ซึ่งรัฐบาลได้ริเริ่มให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้พระโอรสหรือพระธิดาองค์โตของพระจักรพรรดิสามารถสืบราชบัลลังก์ได้ โดยไม่เกี่ยงว่าต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น เพราะในช่วงนั้นยังไม่มีเจ้าชายที่จะสืบราชสมบัติในรุ่นต่อมา แต่ก็แสดงให้เห็นได้ว่าสังคมญี่ปุ่นมีความตระหนักถึงประเด็นการสืบทอดราชบัลลังก์ซึ่งมีความหมายถึงความมั่นคงของสังคมญี่ปุ่นมาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว ดังนั้นการยอมให้พระจักรพรรดิสละราชสมบัติได้จึงมีความหมายมากกว่าพระพลานามัยของพระจักรพรรดิ ยังหมายรวมถึงความสืบเนื่องมั่นคงของราชบัลลังก์
 
ในที่สุดในเดือนมิถุนายน 2017 รัฐสภาจึงได้มีการออกกฎหมายที่เปิดทางให้พระจักรพรรดิอากิฮิโตสามารถสละราชสมบัติได้ แต่เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในกรณีของพระจักรพรรดิอากิฮิโตเท่านั้น แม้จะไม่ใช่การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ แต่กฎหมายนี้ก็สามารถเป็นต้นแบบปูทางไปสู่การออกกฎหมายในลักษณะเดียวกันในอนาคต และยังเปิดโอกาสให้แก่การพิจารณาปรับปรุงตามความเหมาะสมของสังคมญี่ปุ่นในอนาคตด้วย
 
พระจักรพรรดิองค์ใหม่นารุฮิโตะขึ้นครองราชย์ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2019 เป็นวันเริ่มต้นของยุคเรวะ (Reiwa) รัฐบาลประกาศหยุดงานทั่วประเทศเป็นเวลาถึง 10 วันเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมเฉลิมฉลองโอกาสอันสำคัญนี้  ส่วนพระราชพิธีจริงจะมีขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคม และพิธีใหญ่ต่อมาคือ Daijosai ในวันที่ 14-15 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญที่พระจักรพรรดิจะเป็นผู้ถวายข้าวให้แก่บรรพบุรุษและเทพเจ้าเพื่อเป็นการขอพรจากเทพเจ้าให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระจักรพรรดิกับเทพเจ้า ภารกิจของการเป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นได้ถูกส่งต่อไปยังพระจักรพรรดิใหม่
 
พระจักรพรรดิองค์ใหม่มีพระชนมายุ 59 พรรษา ตลอดช่วงชีวิตของพระองค์ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในภาวะสงบปราศจากสงครามและเจริญก้าวหน้าเป็นมหาอำนาจหนึ่งของโลก ทรงได้รับการเลี้ยงดูภายในพระราชวัง และได้รับการศึกษาในต่างประเทศ เช่นเดียวกับพระจักรพรรดินีซึ่งเป็นบุตรสาวจากครอบครัวนักการทูตจึงได้มีประสบการณ์ในต่างประเทศเป็นเวลานาน อาจกล่าวได้ว่าทั้งสองพระองค์เป็นตัวแทนของชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ในยุคหลังสงครามโลก หลังจากได้ขึ้นครองราชย์ไม่นาน พระราชภารกิจแรกด้านการต่างประเทศคือได้ต้อนรับประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งสองพระองค์สามารถปฎิบัติพระราชภารกิจได้อย่างราบรื่นและมีพระราชปฏิสันถารกับแขกเมืองด้วยภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วเป็นธรรมชาติ ภาพข่าวนี้ได้รับการเผยแพร่ออกไปทางสื่อต่างๆ ทั่วโลก ชาวโลกได้เห็นภาพพจน์ของญี่ปุ่นยุคใหม่  เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นการส่งสัญญาณต่อชาวโลกว่าญี่ปุ่นยุคใหม่จะเป็นสมาชิกที่สำคัญในเวทีระหว่างประเทศที่สามารถก้าวไปพร้อมๆ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมโลก.
 
 
 
 
 
 
 
 
 
แหล่งอ้างอิง:
 
Emperor signals wish to abdicate in near future, Japan Times [Online] Available from
 
http://www.japantimes.co.jp/news/2016/08/08/national/japan-abuzz-abdication-rumors-emperor-poised-rare-video-address-public/#.V6k6g7h97Dc (August 8, 2016)
 
Prince Akishino turns 51, calls Emperor’s abdication message ‘good’ chance to air his thoughts, KYODO News [Online] Available from http://www.japantimes.co.jp/news/2016/11/30/national/prince-akishino-turns-51-calls-emperors-abdication-message-good-chance-air-thoughts/#.WD6GgPl97Dc  (November 30, 2016)
 
NHK Documentary on Emperor Akihito Part 1: Crown Prince of a Defeated Nation. Broadcast on April 28, 2019.
 
NHK Documentary on Emperor Akihito Par 2 : The Two of Us. Broadcast on April 29, 2019.
 
NHK Documentary on Emperor Akihito Part 3 : The Symbol of a Nation. Broadcast on April 30, 2019.
 
[1] Emperor Akihito: A life in the service of healing and peace, Available from  
 
http://www.japantimes.co.jp/news/2016/08/08/national/profile-emperor-akihito/#.V6k8Xrh97Dc
 
[2] Linda Sieg. “Historians lead charge as abdication talk raises slew of Imperial issues.” Japan Times (online) January 22, 2017 Available from www.japantimes.co.jp/news/20170/01/22/national/japan-enters-uncharted-waters-imperial-abdication-issue/#.WJg1cv197Dc
 
ภาพภายใต้เงื่อนไข Creative Commons โดย: 内閣官房内閣広報室 - 首相官邸ホームページ, CC BY 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=77709469 
 

ชื่อผู้แต่ง

ทรายแก้ว ทิพากร


ประวัติผู้แต่ง

การศึกษา: อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำแหน่งปัจจุบัน: นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา, ผู้อำนวยการศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา


ผลงานท่ีน่าสนใจ

กระบวนการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ ศึกษากรณีญี่ปุ่น แคนาดา และออสเตรเลีย