สังคม การเมือง วัฒนธรรม ความเคลื่อนไหวเจาะลึกในเอเชีย

ฐานทัพอเมริกาในโอกินาว่ากับปมปัญหาซับซ้อน:

แม้จะมีการประท้วงจากคนในท้องถิ่น แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งนโยบายระดับประเทศที่สร้างบาดแผลให้ชาวโอกินาว่า

เกาะโอกินาว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งในการรักษาความมั่นคงของประเทศญี่ปุ่น และภูมิภาคตะวันออกและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ การตั้งฐานทัพทหารอเมริกาในโอกินาว่านั้นได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว แต่ผู้คนในท้องถิ่นก็ยังมีการรวมตัวกันต่อต้านทหารอเมริกา การสร้างฐานทัพอเมริกา และการย้ายฐานทัพภายในโอกินาว่า ในขณะที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ต่อต้านประเด็นดังกล่าวมากเท่าชาวโอกินาว่า ประเด็นเรื่องฐานทัพอเมริกาในโอกินาว่านำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างภาคประชาชนกับด้านนโยบายระดับประเทศ ซึ่งความขัดแย้งนี้มีอาจมีผลต่อความมั่นคงของประเทศญี่ปุ่นและภูมิภาคเอเชีย รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
โอกินาว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นที่มีฐานทัพอเมริกาตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ และเทคโนโลยีทางการทหารที่ทันสมัย เป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งในการรักษาความมั่นคงของประเทศญี่ปุ่น และภูมิภาคตะวันออกและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ การตั้งฐานทัพทหารอเมริกาในโอกินาว่านั้นได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว แต่ผู้คนในท้องถิ่นก็ยังมีการรวมตัวกันต่อต้านทหารอเมริกา การสร้างฐานทัพอเมริกา และการย้ายฐานทัพภายในโอกินาว่า ในขณะที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ต่อต้านประเด็นดังกล่าวมากเท่าชาวโอกินาว่า ประเด็นเรื่องฐานทัพอเมริกาในโอกินาว่านำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างภาคประชาชนกับด้านนโยบายระดับประเทศ ซึ่งความขัดแย้งนี้มีอาจมีผลต่อความมั่นคงของประเทศญี่ปุ่นและภูมิภาคเอเชีย รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
ดังนั้นการเข้าใจเรื่องราวความเป็นมาของโอกินาว่า และประเด็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในโอกินาว่าจะทำให้เห็นภาพประวัติศาสตร์ มุมมองของชาวโอกินาว่าต่ออัตลักษณ์ของตนเอง ทัศนคติที่มีต่อประเทศญี่ปุ่นและความมั่นคงของภูมิภาค แล้วนำไปสู่ความเข้าใจมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างชาวญี่ปุ่นเกาะใหญ่กับชาวโอกินาว่าต่อประเด็นฐานทัพอเมริกาในโอกินาว่านั้นได้มากขึ้น
 
 
ประวัติศาสตร์โอกินาว่า
 
โอกินาว่า (Okinawa prefecture) เป็นจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยเกาะหลักๆ  ได้แก่ เกาะโอกินาว่า เกาะอิชิกากิ เกาะมิยาโกะ และเกาะอื่น ๆ เรียงทอดตัวยาวเกือบถึงเกาะไต้หวัน เกาะโอกินาว่าเป็นเกาะที่มีพื้นที่มากที่สุด และเป็นที่ตั้งเมืองนาฮะที่เป็นศูนย์ความเจริญทั้งทางเศรษฐกิจและการปกครอง เกาะนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้และมีหาดทรายขาว น้ำทะเลใส ฟ้าสีคราม ผู้คนบนเกาะนี้พูดสำเนียงแปลกๆ มักเป็นเรื่องล้อเลียนและเป็นมุขตลกในการ์ตูนญี่ปุ่น
 
เมื่อย้อนประวัติศาสตร์ 600 กว่าปีที่ผ่านมาเกาะโอกินาว่าเคยเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของอาณาจักรริวกิวที่เคยส่งเรือสำเภาสินค้าทำการค้าขายกับต่างประเทศโดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาณาจักรริวกิวได้สถาปนาขึ้นในปี 1429 เป็นรัฐอิสระที่ปกครองตนเองมายาวนานกว่า 450 ปี มีรายได้หลักจากการทำประมงและเดินเรือค้าขาย เป็นพ่อค้าคนกลางนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างจีนและญี่ปุ่น จึงมีการรับวัฒนธรรมจากจีนและญี่ปุ่นเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น สถาปัตยกรรมลายมังกร บิงคาตะ (กิโมโนแบบโอกินว่า) การสถาปนากษัตริย์ริวกิวต้องได้รับการยินยอมจากจักรพรรดิจีน ต่อมาอาณาจักรนี้พ่ายแพ้ต่อแคว้นซัทสึมะของญี่ปุ่นในสมัยเอโดะ ทำให้อาณาจักรริวกิวต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังทั้งจีนและญี่ปุ่น จนกระทั่งปี 1879 โอกินาว่าถูกผนวกเป็นญี่ปุ่นกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของญี่ปุ่นในสมัยเมจิ
 
ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1945 สหรัฐอเมริกายกพลขึ้นบก และโจมตีทางอากาศที่เกาะโอกินาว่าซึ่งขณะนั้นเสมือนเป็นป้อมปราการหน้าด่านของญี่ปุ่น และทหารอเมริกายึดพื้นที่สร้างฐานทัพเพื่อเตรียมบุกญี่ปุ่นเกาะใหญ่ต่อไป จึงทำให้โอกินาว่ากลายเป็นสมรภูมิรบ “สงครามโอกินาว่า” มีทหารและพลเรือนเสียชีวิตกว่าสองแสนคน เป็นพลเรือนชาวโอกินาว่ากว่าหนึ่งแสนคน มีทั้งถูกยิง ถูกโจมตีและจากการฆ่าตัวตายโดยเฉพาะการใช้ระเบิดมือฆ่าตัวตายหมู่ในถ้ำ (kama) ด้วยการถือศักดิ์ศรีของความเป็นชาวญี่ปุ่นและแสดงความจงรักภักดีต่อจักรพรรดิญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ต่อสหรัฐอเมริกาในสงครามครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นทำสัญญาตามข้อตกลงในสนธิสัญญาซานฟาสซิสโกปี 1951 โดยให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในพื้นที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะบนพื้นที่เกาะโอกินาว่า เพื่อดูแลความมั่นคงของญี่ปุ่น เป็นผลให้โอกินาว่าตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกาจนถึงปี 1972 รวม 27 ปี และกลายเป็นที่ตั้งฐานทัพของทหารอเมริกาซึ่งมีทั้งทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศมากที่สุดในญี่ปุ่น เนื่องด้วยขณะนั้นสหรัฐอเมริกาต้องการสร้างฐานทัพสำหรับต้านทานการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์จากสหภาพโซเวียตในภูมิภาคนี้
 
ต่อมาในทศวรรษ 1970 โอกินาว่ากลับคืนสู่การปกครองของญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งฟื้นฟูจังหวัดโอกินาว่าซึ่งขณะนั้นเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในญี่ปุ่น และพยายามให้โอกินาว่าได้รับผลประโยชน์จากการตั้งค่ายทหารอเมริกาในท้องถิ่น ได้แก่ การเพิ่มค่าเช่าพื้นที่ให้กับเจ้าของที่ดิน และยอมให้สหรัฐอเมริกาดำรงและตั้งฐานทัพทหารต่อไป อย่างไรก็ตามการกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น สร้างความหวังที่ว่าทหารอเมริกาจะถอนกำลังออกจากพื้นที่และคืนพื้นที่ฐานทัพให้กับประชาชน ความขัดแย้งระหว่างนโยบายของประเทศกับความต้องการของชาวโอกินาว่าจึงเกิดขึ้นและดำเนินต่อมา แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นได้สิ้นสุดไป แต่ฐานทัพอเมริกายังคงดำรงอยู่ที่เกาะโอกินาว่า จึงทำให้ประเด็นเรื่องฐานทัพอเมริกาในโอกินาว่าคุกรุ่นและรอประทุขึ้นมาอีก
 
 
ประเด็นการต่อต้านฐานทัพอเมริกาในโอกินาว่า
 
จังหวัดโอกินาว่าคิดเป็น 0.6% ของพื้นที่ประเทศญี่ปุ่น มีประชากรทั้งหมด 1.44 ล้านคน จำนวนสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับกองทัพอเมริกาในโอกินาว่ามีจำนวนทั้งหมด 31 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมดของโอกินาว่า 8.2% จำนวนทหารทั้งหมด 25,843 คน สัดส่วนฐานทัพอเมริกาทั่วประเทศญี่ปุ่นในปี 2017 พบว่าที่ญี่ปุ่นเกาะใหญ่กับโอกินาว่ามีสัดส่วน 29.6% และ 70.4% เห็นได้ว่าสัดส่วนที่โอกินาว่าสูงกว่าญี่ปุ่นเกาะใหญ่มาก (Okinawa Prefectural Government, 2018) นอกจากนี้บริเวณรอบๆ ฐานทัพมีประชากรอาศัยอยู่ เช่น ที่ฟุเทมมะตั้งอยู่กลางเมืองกิโนวังมีประชากรอยู่โดยรอบ 100,000 คน เนื่องจากค่ายฟุเทมมะตั้งอยู่ท่ามกลางบริเวณที่อยู่อาศัย สร้างความเดือดร้อนเรื่องเสียงและอันตรายจากชิ้นวัตถุของยานบินต่างๆ ตกลงมา การปฏิบัติงานและพฤติกรรมของทหารอเมริกาสร้างปัญหาและก่อให้เกิดอุบัติเหตุและคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฐานทัพอเมริกานับครั้งไม่ถ้วน
 
ที่ตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในเกาะโอกินาว่า 
ที่มา: https://libguides.gwu.edu/okinawa/militarybases
 
จากสถิติโดย Okinawa Prefectural Government ตั้งแต่ปี 1972 ถึงปี 2016 อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินของทหารอเมริกามีดังนี้ ชน 47 ครั้ง ลงจอดฉุกเฉิน 518 ครั้ง อื่นๆ 144 ครั้ง รวม 709 ครั้ง ส่วนคดีอาชญากรรมจากบุคคลที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองอเมริกา ความผิดรุนแรงมาก (ฆาตรกรรม ข่มขืน) 576 คดี ความผิดรุนแรง (ได้รับบาดเจ็บ) 1,067 คดี และอื่นๆ 4,276 คดี รวม 5,919 ครั้ง (Okinawa Prefectural Government, 2018) การตั้งฐานทัพในเขตชุมชนจึงทำให้ฐานทัพฟุเทมมะได้รับการขนานนามว่าเป็นฐานทัพที่อันตรายที่สุดในโลก ทางรัฐบาลญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกาจึงดำเนินการย้ายฐานทัพฟุเทมมะไปยังเฮโนโคะ ซึ่งห่างไกลชุมชนและติดกับชายฝั่งทะเล ทำฐานทัพใหม่โดยการถมทะเล ซึ่งชาวโอกินาว่าก็ออกมาต่อต้านเนื่องจากการถมทะเลนำไปสู่ทำลายสมดุลและความสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่โอกินาว่ามีพันธุ์ไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำที่หายาก พบได้เฉพาะที่โอกินาว่าเท่านั้น และจำนวนไม่น้อยที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ซึ่งทรัพยากรทางธรรมชาตินี้เป็นเสน่ห์ของการท่องเที่ยวโอกินาว่าและวิถีชีวิตของชาวโอกินาว่า ที่อาจต้องถูกบังคับให้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต
 
ประเด็นฐานทัพได้กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2019 ที่ผ่านมา ที่จังหวัดโอกินาว่ามีการจัดลงประชามติเกี่ยวกับการย้ายฐานทัพอเมริกาจากค่ายฟุเทมมะไปยังเฮโนโคะ อย่างเป็นทางการหลังจากมีการเดินประท้วง การลงประชามติจัดขึ้นเพื่อให้ผู้ที่อาศัยอยู่จริงในโอกินาว่าแสดงความคิดเห็นต่อการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะย้ายฐานทัพฟุเทมมะไปยังพื้นที่เฮโนโคะ (ตั้งอยู่ที่เมืองนาโกะ) และการถมทะลบริเวณนั้นเพื่อสร้างฐานทัพใหม่ ชาวจังหวัดโอกินาว่าที่มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด 1,153,591คน 99.87% ปรากฎว่าลงมติเห็นด้วย 114,908 คน คนที่ไม่เห็นด้วย 434,149คน  คนที่ไม่เลือกทั้งคู่  52,676 คน ซึ่งผลไม่เห็นด้วยต่อการย้ายฐานทัพมีมากที่สุด
 
ผลของการลงประชามติได้แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าชาวโอกินาว่าไม่ต้องการฐานทัพทหารอเมริกา เนื่องจากความระแวงและนำไปสู่ฉนวนปัญหาความขัดแย้งอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะความมั่นคงและความปลอดภัย จนเกิดการต่อต้านและเดินประท้วงในรูปแบบต่างๆ หลายครั้งแต่ก็ยังไม่สามารถขจัดฐานทัพอเมริกาออกจากโอกินาว่าได้ อย่างไรก็ตามผลการลงประชามตินี้ไม่มีผลทางกฏหมาย เพียงแต่มีเงื่อนไขคือหากมีผลประชามติเกิน 1 ใน 4 ของจำนวนผู้มาลงประชามติแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องแจ้งผลไปยังนายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลังทราบผลประชามติแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดนายเดนี ทามากิ ได้เพียงเข้าพบและรายงานผลประชามติดังกล่าวแก่นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะด้วยตนเอง และแจ้งผลไปยังประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาโดยแจ้งผ่านสถานทูตสหรัฐอเมริกาที่จังหวัดโอกินาว่า
 
 
มุมมองภาคประชาชนต่อประเด็นฐานทัพอเมริกาในโอกินาว่า
 
ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ชาวโอกินาว่าต่อต้านฐานทัพอเมริกาในโอกินาว่ามาโดยตลอด มีการเคลื่อนไหวหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการติดแผ่นป้าย เดินขบวน ชุมนุมหน้าฐานทัพ จนกระทั่งการทำประชามติ ประเด็นที่ชาวโอกินาว่ากล่าวถึงมากในการต่อต้าน คือจำนวนฐานทัพและทหารอเมริกาในจังหวัด อุบัติเหตุและคดีต่างๆ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณรอบฐานทัพ มลพิษทางเสียง การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ถึงกระนั้นตามข้อตกลงด้านนโยบายความมั่นคงระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องปฏิบัติตามและพยายามเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดโอกินาว่าและผู้นำอื่นๆ แต่ชาวโอกินาว่ายังคงต่อต้านการดำรงอยู่ของฐานทัพอเมริกา และมีมุมมองที่แตกต่างไปจากชาวญี่ปุ่นเกาะใหญ่
 
 
- - - - - - - -
ชาวโอกินาว่าเกิดความสงสัย
และคิดว่าชาวญี่ปุ่นไม่เข้าใจความเป็นโอกินาว่า
รู้สึกถูกมองว่าล้าหลังและโดนดูถูก
- - - - - - - - 
 
 
สื่อมวลชนและนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่พยายามศึกษาและสำรวจเกี่ยวกับมุมมองของชาวโอกินาว่าและชาวญี่ปุ่นในประเด็นฐานทัพอเมริกา ดังนี้
 
สำนักข่าวญี่ปุ่น NHK ปี 1970 สำรวจความคิดเห็นว่าหลังจากที่โอกินาว่ากลับคืนสู่ประเทศญี่ปุ่นแล้วทิศทางของการจัดการฐานทัพอเมริกาควรเป็นอย่างไร โดยมีตัวเลือก 3 ทาง คือขจัดออกไปให้หมดทันที ลดขนาดลงและขจัดออกไปจนหมดในอนาคต และลดขนาดลงพร้อมๆ กับฐานทัพอเมริกาที่เกาะใหญ่ ซึ่ง 75% ต้องการให้ลดขนาดและขจัดออก แต่เวลาผ่านไป 40 กว่าปีแล้วยังไม่สามารถขจัดออกไปได้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้ที่เกิดก่อนการกลับคืนสู่ญี่ปุ่น ส่วนผู้ที่เกิดหลังจากการกลับคืนสู่ญี่ปุ่นครึ่งหนึ่งตอบว่าต้องการให้มีขนาดเล็กลงโดยมีขนาดใกล้เคียงกับที่เกาะใหญ่ และไม่เห็นด้วยกับการย้ายฐานทัพจากฟุเทมมะไปยังเฮโนะโกะ แต่ครึ่งหนึ่งยอมรับเรื่องการมีฐานทัพอเมริกาในญี่ปุ่นนั้นมีความจำเป็นและเป็นความจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้ และการใช้โอกินาว่าเป็นแหล่งที่ตั้งสิ่งก่อสร้างเพื่อฐานทัพอเมริกาคิดเป็น 70% ของทั้งหมดนั้น ชาวโอกินาว่าคิดว่าเป็นการดูถูกชาวโอกินาว่า 36.4%
 
ส่วนญี่ปุ่นเกาะใหญ่คิดว่า 16.8% นอกจากนี้ยังสำรวจเกี่ยวกับการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจของโอกินาว่ากับฐานทัพอเมริกา พบว่าหลังจากโอกินาว่ากลับคืนสู่ญี่ปุ่นพบว่าโอกินาว่ามีรายได้จากการท่องเที่ยว 20 เท่าในปี 2016 รายได้โดยรวมของชาวโอกินาว่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 8 เท่าในปี 2014 รายได้ของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับฐานทัพอเมริกาลดลงจากสัดส่วน 15.5% เป็น 5.7% และได้โทรศัพท์สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับฐานทัพอเมริกากับเศรษฐกิจโอกินาว่า พบว่า “เศรษฐกิจของโอกินาว่าจะไม่ดีหากไม่มีฐานทัพอเมริกา” ชาวโอกินาว่าตอบเห็นด้วย 31% ในขณะที่ทั่วประเทศเห็นด้วย 58% และข้อที่ถามว่า “เศรษฐกิจของโอกินาว่าไม่เติบโตหากไม่มีฐานทัพ” ชาวโอกิตอบว่า “ไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น” เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ทั่วประเทศตอบว่า “คิดว่าเป็นเช่นนั้น” (河野, 2017)
 
นักสังคมศาสตร์ชาวญี่ปุ่นศึกษาประเด็นสังคัมโอกินาว่ากล่าวว่า สังคมโอกินาว่าเป็นสังคมกลุ่มเล็กเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นทั้งประเทศ การเป็นกลุ่มคนและวัฒนธรรมหมู่น้อยในหมู่มากยิ่งทำให้คนโอกินาว่าสร้างความรู้สึก “ความเป็นโอกินาว่า” ร่วมกัน รวมถึงมุมมองต่อนโยบายเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติโดยเฉพาะประเด็นฐานทัพและทหารอเมริกาในโอกินาว่า ชาวโอกินาว่ามีความรู้สึกไม่เป็นมิตรและต่อต้านการอยู่ภายใต้ทหารอเมริกา (suzuki, 2018)
 
ดังข้างต้น ทำให้ทราบถึงมุมมองที่แตกต่างของชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นกับประวัติศาสตร์ริวกิวขนานกันมา จนกระทั่งบรรจบกันในสมัยเมจิของญี่ปุ่น เริ่มต้นประวัติศาสตร์ร่วมกับญี่ปุ่นในฐานะจังหวัดโอกินาว่า ที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นตามประวัติศาสตร์คือสืบเชื้อสายมาจากลูกหลานพระอาทิตย์ เกิดคำถามว่าชาวโอกินาว่าเป็นลูกหลานพระอาทิตย์เช่นชาวญี่ปุ่นหรือไม่ ชาวโอกินาว่าเกิดความสงสัยและคิดว่าชาวญี่ปุ่นไม่เข้าใจความเป็นโอกินาว่า รู้สึกถูกมองว่าล้าหลังและดูถูกชาวโอกินาว่า ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้นเมื่อโอกินาว่าเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น เป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดทำให้เกิดความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันโอกินาว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวและชาวโอกินาว่าเชื่อว่าเศรษฐกิจของโอกินาว่าสามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาฐานทัพอเมริกา แต่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังไม่คิดแบบนั้น แม้ว่ากาลเวลาผ่านไปกว่า ซึ่งมุมมองที่ขัดแย้งกันนี้ยังมองไม่เห็นทางออกร่วมกัน
 
ในสถานการณ์โลกปัจจุบันประเทศจีนค่ายคอมมิวนิสต์เริ่มขยายอิทธิพลโดยเฉพาะด้านการทหารและการเมือง เกาหลีเหนือยังคงดำเนินการทดลองยิงขีปนาวุธใกล้กับน่านน้ำประเทศญี่ปุ่น ส่งผลต่อมุมมองด้านความมั่นคงและปลอดภัยของคนญี่ปุ่นจำนวนมาก ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีเพียงกองกำลังทหารป้องกันตนเอง จึงจำเป็นต้องพึ่งพากำลังทหารจากสหรัฐอเมริกา และยังคงอนุญาตให้ทหารอเมริกาตั้งฐานทัพในดินแดนญี่ปุ่นตามข้อตกลงที่ทำร่วมกัน แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะทราบถึงผลประชามติที่ชาวโอกินาว่าต่อต้านฐานทัพทหารอเมริกาแล้วก็ตาม.
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
เอกสารอ้างอิง
 
[1] โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ (2561) สะดุดคำ “จากริวกิวสู่โอกินาวาในสงคราม” สืบค้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2562 จาก http://mgronline.com/japan/detail/9610000063189.
 
[2] สุรางค์ศรี ตันเสียงลม (2554) โอกินาว่า:ประตูสู่ญี่ปุ่น. จิบน้ำชาใต้ร่มซากุระ ประจักษ์มุมใหม่ของภาพอาทิตย์อุทัย. สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
 
[3] Noriyuki Suzuki(2018) “Networking Based on Cultural Capital and it’s Succession among South American Nikkeis in an Okinawa Host Society: Focusing on Qualitative Interviews and Surveys in 2015” Center for Okinawa Migration Studies, Vol.14, pp73-94. (In Japanese)
 
[4] Okinawa Prefectural Government (2018) What Okinawa Wants You to Understand about the U.S. Military Bases. http://dc-office.org/wp-content/uploads/2018/03/E-all.pdf
 
[5] Steve Rabson (2012) Henoko and the US Militar: A Histor of Dependence and Resistance. The Asia-Pacific journal vol.10,issue 4, no.2. Retrieved from http://apjjf.org/-Steve-Rabson/3680/article.pdf. 2019, MARCH 14.
 
[6] 河野啓 (2017)「沖縄米軍基地をめぐる意識 沖縄と全国―2017年4月「復帰45年の沖縄」調査」『放送研究と調査』 ,pp.18-31.
 
ที่มาภาพ 琉球新報辺野古・ヘリパッド取材班(沖縄) @henokonow

 

ชื่อผู้แต่ง

สุดปรารถนา ดวงแก้ว


ประวัติผู้แต่ง

นักวิจัยศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ผลงานท่ีน่าสนใจ