พื้นที่ชายฝั่งทะเลกัมพูชาครอบคลุมพื้นที่จากจังหวัดเกาะกง ชายแดนไทย-กัมพูชา ถึงจังหวัดกำปอต ชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม รวมระยะทางประมาณ 440 กิโลเมตร โดยพื้นที่ดังกล่าวเชื่อมโยงผ่าน 4 จังหวัดของกัมพูชา ได้แก่ เกาะกง สีหนุวิลล์ กำปอต และแก็บ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชาวจีนไหหลำได้มาตั้งรกรากตั้งแต่อดีต โดยประกอบอาชีพปลูกพริกไทย รับจ้างทั่วไป และค้าขายผักพืชผลการเกษตรในตลาด จนเมื่อมีทุนทรัพย์และเมืองพนมเปญเจริญขึ้นจึงไปอพยพไปตั้งรกรากที่พนมเปญ พื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางการค้าและการลงทุนของจีนในกัมพูชามาตั้งแต่อดีต
ในปัจจุบันจีนได้เข้ามาลงทุนในด้านโครงสร้างสาธารณูปโภค ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม และด้านการท่องเที่ยว
ด้านโครงสร้างสาธารณูปโภค
โครงการด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคที่จีนเข้ามาลงทุน ได้แก่ เขื่อน ทางรถไฟ ถนน
ด้านการเกษตร
จีนได้เข้ามาลงทุนด้านการเกษตร เช่น สัมปทานปลูกปาล์มน้ำมัน เข้ามากว้านซื้อสินค้าเกษตรที่ขึ้นชื่อของจังหวัดกำปอต ได้แก่ ทุเรียน และ พริกไทย
ด้านอุตสาหกรรม
ในปี 2008 บริษัท Jiangsu Taihu Cambodia International Economic Cooperation Investment Co., Ltd และ Cambodia International Development Group Co., Ltd ได้ก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ขึ้น โดยตั้งอยู่ที่จังหวัดสีหนุวิลล์ห่างจากท่าเรือสีหนุวิลล์ 12 กิโลเมตร และ 210 กิโลเมตรจากพนมเปญ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด 11.13 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นโซนอุตสาหกรรม โซนท่องเที่ยว โซนที่พักอาศัย โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์เป็นเหมือนเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน[1]
โซนอุตสาหกรรมมีพื้นที่ 5.28 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบัน (2017) มีบริษัทมาลงทุน 110 บริษัท 93 โรงงาน โดยเป็นบริษัทจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เวียดนาม และไทย มีการจ้างงาน 16,000 คน มีเป้าหมายว่าในปี 2022 มีบริษัทเข้ามาลงทุน 300 บริษัท และมีการจ้างงาน 80,000 คน[2]
ภาพที่ 1-2 เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์
แหล่งที่มา: http://www.ssez.com/en/fengmao1.asp
ด้านการท่องเที่ยว
ปี 2017 มีชาวจีนที่มาเยือนกัมพูชา 1.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 56 จากจำนวนชาวต่างชาติทั้งที่มาเยือนกัมพูชา ทำให้จีนเป็นชาติที่มาเยือนกัมพูชาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นเวียดนามจำนวน 835,335 คน ลาว 502,219 คน และไทย จำนวน 394,934 คน[3] โดยในปี 2016 นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังจังหวัดพระสีหนุมีจำนวน 90,000 คน ปี 2017 เพิ่มเป็น 120,000 คน[4] นอกจากนี้จีนยังได้เข้ามาลงทุนในภาคการท่องเที่ยวในชายฝั่งทะเลกัมพูชา โดยได้ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น ในปี 2008 รัฐบาลกัมพูชาได้ให้สัมปทานแก่ บริษัท Tianjin Union Investment Development Group C., Ltd. หรือที่รู้จักกันในนาม Union Group ในการพัฒนาพื้นที่ในเกาะกง จำนวน 36,000 เฮกต้าร์ เป็นเวลา 99 ปี โดยภายใต้ชื่อโครงการ Dara Sakor Seashore Resort โดยภายในโครงการจะมีการสร้างโรงแรม รีสอร์ท สนามกอล์ฟ คาสิโน และสนามบิน[5]
ภาพที่ 3-4 Dara Sakor Seashore Resort / แหล่งที่มา: คณะวิจัย
นอกจากนี้นักธุรกิจชาวจีนยังได้เข้ามาเช่าโรงแรมเก่าในสีหนุวิลล์เปิดเป็นคาสิโน โดยในปี 2018 มีคาสิโนในกัมพูชา 150 แห่ง 88 แห่งอยู่ที่จังหวัดพระสีหนุ[6]
เมื่อพิจารณาถึงการลงทุนของจีนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของกัมพูชา ทั้งในด้านสาธารณูปโภค อุตสาหกรรม ด้านเกษตร และการท่องเที่ยวพบว่า จีนเข้ามาใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลสำหรับเป็นแหล่งทรัพยากร เป็นแหล่งสินค้าเกษตร เป็นสถานที่ตั้งโรงงานผลิตสินค้า และเป็นสถานีการขนส่งสินค้า ซึ่งช่วยในการขนส่งสินค้ากลับไปยังจีนและกระจายสินค้าของจีนไปยังประเทศอื่นๆ อาจกล่าวได้ว่าการลงทุนของจีนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลทำให้กัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งของ production network ของจีน
แผนที่ 1 แสดงเส้นทางการเดินเรือของท่าเรือน้ำลึกสีหนุวิลล์
แหล่งที่มา: http://www.pas.gov.kh/en/page/transportation-route
จากแผนที่ 1 แสดงเส้นทางการเดินเรือของท่าเรือน้ำลึกสีหนุวิลล์ จะเห็นได้ว่าสินค้าจะถูกส่งจากท่าเรือสีหนุวิลล์ไปยัง 4 ท่าเรือหลัก ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสงขลา ในประเทศไทย ท่าเรือที่สิงคโปร์ และท่าเรือ Cai Map ที่เวียดนาม จากนั้นสินค้าจะถูกส่งไปยังจีนและประเทศอื่นๆ ท่าเรือสีหนุวิลล์ได้กลายเป็นสถานีกระจายสินค้าของจีน
นอกจากนี้ การเข้ามาลงทุนในด้านการท่องเที่ยวของจีนทำให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของกัมพูชากลายเป็นสถานที่คนจีนเข้ามาท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นจำนวนมาก เช่น จังหวัดพระสีหนุได้กลายเป็นเมืองตากอากาศของชาวจีน
จีนได้รับผลประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนชายฝั่งทะเลในกัมพูชาทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลประโยชน์ทางตรง คือ จีนได้รับเม็ดเงินจากกำไรของบริษัทจีนที่มาลงทุนในกัมพูชา สินค้าของจีนถูกกระจายไปหลายประเทศจากท่าเรือในกัมพูชา จีนได้เผยแพร่เทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีในการสร้างเขื่อน เทคโนโลยีที่มากับเครื่องจักรของจีน ผลประโยชน์ทางอ้อมคือ การลดการใช้ทรัพยากรของจีน โดยจีนใช้ทรัพยากรในพื้นที่ชายทะเลของกัมพูชาในกระบวนการผลิตสินค้า กระบวนการกระจายสินค้า และสันทนาการประชาชนของจีนซึ่งปี 2558 จีนมีจำนวนประชากรอยู่ที่ประมาณ 1,370 ล้านคน นอกจากนี้จีนยังได้เผยแพร่วัฒนธรรมจีนผ่านเจ้าหน้าที่จีนที่เข้าไปทำงานในกัมพูชาและการอบรมภาษาจีนให้กับพนักงาน เช่น ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์มีการอบรมภาษาจีนให้กับพนักงาน
ผลกระทบต่อกัมพูชา
บทบาทของจีนในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลของกัมพูชา ทั้งในด้านสาธารณูปโภค ด้านอุตสาหกรรม ด้านการเกษตรและด้านการท่องเที่ยวได้ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อกัมพูชา
ผลกระทบทางบวก
: การเชื่อมโยงและบูรณาการเศรษฐกิจของกัมพูชาเข้ากับภูมิภาค
ในงาน “Thailand-Cambodia Business Forum” ฮุน เซน ได้ประกาศยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนของกัมพูชา[7] โดยมีใจความสำคัญว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาไม่สามารถตัดออกจากภูมิภาคได้ กัมพูชาต้องการประสานการเป็นหุ้นส่วนร่วมกันอาเซียนและประเทศอื่น ๆ นอกภูมิภาค จึงมีเศรษฐกิจแบบเปิดผ่านการมีมาตรฐานการค้าและการลงทุนที่มุ่งพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านยุทธศาสตร์ 4 ด้าน
1. การเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตแห่งภูมิภาคภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลังการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีฐานการผลิตเดียวกันและเป็นโรงงานของโลกขณะเดียวกันก็มีขนาดตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลกในปี 2573
2. การเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมที่กำหนดให้มี 2568 จะเดินหน้าไปสู่การยกระดับการพัฒนาการลงทุน ผ่านแนวทางทำงานได้แก่ การดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มและเอกชนในประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs) ให้มีการปรับปรุงและสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรม
3. การดัดแปลงและแก้ไขสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศเพื่อนำไปสู่การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ
4. การพัฒนาบุคลากร การอบรมวิชาชีพ รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน ด้านสังคมและการเงินการธนาคาร”
การเข้ามาลงทุนของจีนในพื้นที่ชายทะเลของกัมพูชาจึงเป็นการตอบสนองนโยบายของฮุนเซนที่ต้องการการเชื่อมโยงและบูรณาการเศรษฐกิจของกัมพูชากับนานาประเทศและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของกัมพูชา ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายคน สินค้า ทุนระหว่างจีน กัมพูชา และภูมิภาค อันนำมาสู่การเติบโตของเศรษฐกิจกัมพูชาอย่างมั่งคงและยั่งยืน
: เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวกัมพูชา
การลงทุนของจีนในพื้นที่ชายทะเลของกัมพูชาก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์มีการจ้างงานมากกว่า 160,000 คน ในปี 2020 เขตเศรษฐกิจพิเศษสิหนุวิลล์จะมีการจ้างงานถึง 200,000 คน[8]
ในกรณีของ Darasakor Seashore Resort ได้ทำการสัมภาษณ์พนักงานต้อนรับซึ่งได้ให้ข้อมูลว่า Darasakor Seashore Resort เฉพาะในส่วนของโรงแรมมีประมาณร้อยกว่าคน ส่วนใหญ่จะเป็นคนเกาะกงที่ต้องการทำงานที่ใกล้บ้าน แต่พนักงานในระดับหัวหน้ายังเป็นชาวจีน
นอกจากนี้ การเข้ามาลงทุนของจีนโดยเฉพาะการลงทุนในภาคการท่องเที่ยว ทำให้คนจีนได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ชายทะเลของกัมพูชามากขึ้น โดยเดินทางเข้ามาในฐานะเจ้าของธุรกิจ พนักงาน และนักท่องเที่ยว ทำให้ชาวกัมพูชาทำอาชีพค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคให้แก่คนจีน โดยจากการสัมภาษณ์แม่ค้าที่บริเวณชายแดนตราด-เกาะกง พบว่ามีชาวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวตราด-สีหนุวิลล์มากขึ้น ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ชาวกัมพูชา
ผลกระทบด้านลบ
การลงทุนของจีนในพื้นที่ชายทะเลส่งผลกระทบในด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเศรษฐกิจชองชุมชน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การสูญเสียที่อยู่และที่ดินทำกิน ปัญหาอาชญากรรม และผลกระทบต่อธุรกิจท้องถิ่น
: ปัญหาสิ่งแวดล้อม
บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลกัมพูชาเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้ง ป่า ทรัพยากรทางทะเล ได้แก่ Peam Krasop Wildlife Sanctuary และ the Southern Cardamom Mountain Tropical Forest และ Boutum Sakor National Park จังหวัดเกาะกง และ Preah Monivong Bokor National Park จังหวัดกำปอต
การลงทุนของจีนในพื้นที่ชายทะเลกัมพูชาโดยเฉพาะการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน รีสอร์ทขนาดใหญ่ และเขตอุตสาหกรรม ซึ่งใช้พื้นที่จำนวนมากและกินพื้นที่เข้าไปในเขตป่าธรรมชาติ ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ชายฝั่งทะเลกัมพูชา
แผนที่ 2 แสดงที่ตั้งของเขื่อนที่จีนให้ทุนสนับสนุนสร้างในพื้นที่ชายฝั่งทะเลกัมพูชา / แหล่งที่มา: google map
จากแผนที่ 2 แสดงที่ตั้งของเขื่อนที่จีนให้ทุนสนับสนุนสร้างในพื้นที่ชายฝั่งทะเลกัมพูชา สะท้อนให้เห็นว่าเขื่อนที่จีนสร้างล้วนอยู่ในพื้นที่ป่าธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ เช่น
โครงการ Stung Tatay Hydroelectric dam เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า 246 –megawatt ตั้งอยู่บนแม่น้ำ Tatay ป่าเขตร้อนทางด้านใต้ของ Cardamom Mountain ซึ่งใน 2001 ได้ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 34 พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และในปี 2004 พื้นที่ดังกล่าวได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายของกัมพูชา การสร้างเขื่อนจะทำให้น้ำท่วมยังพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 2,800 เฮกต้าร์[9] จากการศึกษาของ International Union for Conservation of Nature (IUCN) ในปี 2012 พบว่า การสร้างเขื่อนดังกล่าวทำให้แม่น้ำ Tatay ขุ่น และทำลายที่อยู่อาศัยของปลา ยังผลให้จับปลาได้ลดลงร้อยละ 70-90[10]
โครงการ Kamchay Hydroelectric dam เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า 193.2-megawatt ตั้งอยู่ที่แม่น้ำ Kamchay ในเขต Preah Monivong Bokor National Park ซึ่งถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติตามกฎหมายของกัมพูชาตั้งแต่ปี 1993 โครงการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 2,291 เฮกต้าร์ โดยพื้นที่ 2,015 เฮกต้าร์ได้ถูกน้ำท่วม จากรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม พบว่าโครงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อป่าดิบ 1,962 เฮกต้าร์ และป่าผสมป่าไผ่ 416 เฮกต้าร์ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 37 สายพันธุ์ นก 68 สายพันธุ์ สัตว์เลื้อยคลาน 23 สายพันธุ์ และปลา 192 สายพันธุ์ อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการเขื่อนดังกล่าว เขื่อน Kamchay ยังส่งผลต่อคุณภาพของน้ำในแม่น้ำ Kamchay โดยน้ำขุ่นและมีปริมาณลดลง[11]
: การสูญเสียที่อยู่และที่ดินทำกิน
ในกรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ จากรายงาน ADB and SPECIAL ECONOMIC ZONE: ADB and the Greater Mekong Subregion Program ได้กล่าวว่ามีชาวกัมพูชา 117 ครอบครัวต้องสูญเสียที่อยู่และบางคนถูกจับเนื่องจากการบังคับขับไล่ในปี 2007[12]
ในกรณีของ Dara Sakor Seashore Resort มี 1,163 ครอบครัว โรงเรียนประถม 1 โรงเรียน และวัด 3 แห่งที่ต้องย้ายที่ บริษัทได้เสนอพื้นที่ 50*100 เมตร และสร้างบ้านไม้ขนาด 6.5*7.5 เมตร พร้อมให้พื้นที่ทำการเกษตร 2 เฮกต้าร์ เพื่อชดเชยสำหรับครอบครัวที่ต้องย้ายที่อยู่ที่ทำกิน แต่ครอบครัวที่ยอมย้ายที่อยู่ยังไม่ได้รับที่ทำกิน 2 เฮกต้าร์ และประมาณ 1,000 ครอบครัว ที่ยอมย้ายเข้าไปอยู่ไปยังที่ที่บริษัทจัดหาให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่แล้วไม่รู้จะทำอาชีพอะไร ในท้ายที่สุดก็ย้ายกลับมาอาศัยยังหมู่บ้านเดิมที่อยู่ริมชายทะเลเพื่อทำการประมงซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า บ้าน 30-40 หลังที่อยู่ในพื้นที่ที่บริษัทจัดหาให้ชาวบ้านนั้นมีสภาพแย่ ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย[13]
: ปัญหาอาชญากรรม
การเข้ามาลงทุนของนักธุรกิจชาวจีนได้นำปัญหาอาชญากรรมมาสู่กัมพูชาด้วย ในจังหวัดพระสีหนุชาวจีนได้เข้าไปลงทุนทั้งโรงแรม รีสอร์ท คาสิโน นำมาซึ่งปัญหาอาชญากรรมในจังหวัด ในเดือนมกราคม 2018 นาย Yun Min ผู้ว่าราชการจังหวัดพระสีหนุ ได้เขียนจดหมายถึง นาย Sar Kheng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยเนื้อหาในจดหมายได้กล่าวว่า ในปี 2017 มีชาวจีนมาทำเรื่องขออนุญาตทำงานในจังหวัดพระสีหนุ ทั้งหมด 4,498 คน จากจำนวนชาวต่างชาติที่มาขออนุญาตทั้งหมด 6,485 คน การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจีนเป็นจำนวนมาก เป็นการเปิดโอกาสให้มาเฟียชาวจีนเข้ามาก่ออาชญากรรมก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในจังหวัด[14] พลตำรวจตรี Kul Phaly รองผู้บัญชาการตำรวจจังหวัดพระสีหนุ ได้กล่าวกับทาง Phnom Penh Post ว่า ปัญหาการเปิดคาสิโนผิดกฎหมาย การฟอกเงิน และการลักพาตัว เป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ[15]
อาชญากรรมที่เกิดขึ้นในจังหวัดพระสีหนุ อาทิ ในปี 2015 ได้มีการจับกุมชาวกัมพูชา 168 คน ที่จังหวัดพระสีหนุ ด้วยข้อหาการใช้โทรศัพท์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สิน[16] ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2017 ได้มีการจับกุมชาวจีน 13 คนที่จังหวัดพระสีหนุ โดยชาวจีน 6 คน ได้ไปใช้บริการร้านนวดและต้องการมีเพศสัมพันธ์กับพนักงานชาวกัมพูชาแต่ถูกปฏิเสธจึงการการโต้เถียงกันระหว่างชาวจีนกับชาวกัมพูชา ตำรวจได้มาถึงที่เกิดเหตุขณะเดียวกันก็มีชาวจีนอีก 7 คนมาสมทบ ตำรวจจึงจับกุมชาวจีนทั้ง 13 คนไปยังโรงพัก[17] ในเดือนธันวาคม 2017 ได้มีการจับกุมชาวจีน 3 คน ข้อหาลักพาตัวนักธุรกิจชาวจีน โดยเรียกเงินค่าไถ่ 800,000 เหรียญสหรัฐ[18] ในวันที่ 15 มกราคม 2018 ได้มีการจับกุมชาวจีน 20 คน ด้วยข้อหาทะเลาะวิวาทและสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น[19]
ในเดือนพฤษภาคม 2019 เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานข่าวว่า สถานทูตจีนในกรุงพนมเปญกำลังขอความร่วมมือไปยังตำรวจของกัมพูชาเพื่อตรวจสอบคลิปวีดิโอกลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 20 คน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นแก๊งอันธพาลจากนครฉงชิ่ง และมีหนึ่งในกลุ่มดังกล่าวที่อ้างตัวว่าเป็นหัวหน้า ประกาศเอาไว้ว่า “กำปงโสม (จังหวัดพระสีหนุ) ในอีกสามปีข้างหน้าไม่ว่าจะปลอดภัย หรือวุ่นวายต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเราแก๊งค์ฉงชิ่ง"[20] หลังจากที่คลิปนี้เผยแพร่ออกไปไม่นานสถานเอกอัครราชทูตจีนก็ให้คำมั่นกับทางการกัมพูชาว่าพวกเขาจะร่วมมือกับกัมพูชาในการสืบสวนการกระทำของคนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตามในวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมาสถานทูตจีนก็แถลงผ่านเฟสบุคว่ากลุ่มชาวจีนในวิดีโอไม่ได้เป็นสมาชิกของแก็งค์อาชญากรแต่อย่างใดและวิดีโอคลิปของพวกเขามีเจตนาทำไปเพื่อเป็น "เรื่องตลกขบขัน" ในตอนที่พวกเขาเมาเท่านั้น[21]
จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากเข้ามาลงทุนและท่องเที่ยวในกัมพูชาเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลจีนและกัมพูชาต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
: ผลกระทบต่อธุรกิจท้องถิ่น
ถึงแม้ว่าชาวจีนจะเข้ามาลงทุนจนสร้างเงินสร้างรายได้ให้แก่ชาวกัมพูชา แต่ทว่าการที่ชาวจีนได้เข้ามาทำธุรกิจในกัมพูชาส่งผลกระทบต่อธุรกิจของชาวกัมพูชาท้องถิ่น เช่น คุณ By Vanny เจ้าของร้านอาหาร 168 Bar ในหาด Ochheuteal ได้กล่าวว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนไม่นิยมทานอาหารของชาวกัมพูชา มีร้านอาหารของชาวจีนมาเปิดแข่งขันกับร้านอาหารของชาวกัมพูชา ทำให้เขาไม่ได้รับประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนของจีนเลย Vanny ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า
“We don’t receive any business from the Chinese.”… “I am not happy with the growth of Chinese tourists and investor, and I am worried that if all they attract is gamblers, it will be a disaster for us.”
นาย Chay Piseth เจ้าของร้านอาหาร the Nice Ocean ได้แสดงความกังวลว่า ร้านอาหารของเขาในถนน Serendipity ในจังหวัดพระสีหนุจะถูกปิด โดยกล่าวว่ามีนายทุนชาวจีนได้รับสัมปทานในการพัฒนาที่ดินดังกล่าว
“I can’t survive the flood of Chinese tourists and investors because they only support each other and don’t care about locals.”… “When I lose my business next month, I will just be another slave to Chinese investors unless the government helps to block them from entering the industry.”[22]
จะเห็นได้ว่าการเข้ามาของนักธุรกิจชาวจีนได้เข้ามาแข่งขันกับธุรกิจของชาวกัมพูชาท้องถิ่น ประกอบกับการที่ชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวนิยมที่จะอุดหนุนธุรกิจ ร้านค้า ร้านอาหารของชาวจีนกันเองมากกว่าที่จะอุดหนุนร้านธุรกิจขอชาวกัมพูชาท้องถิ่น ส่งผลให้ธุรกิจของชาวกัมพูชาท้องถิ่นอยู่ไม่ได้ เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวจีนกับชาวกัมพูชาในด้านธุรกิจอันนำมาสู่ความไม่พอใจและความขัดแย้งระหว่างชาวกัมพูชากับชาวจีนในด้านอื่นๆ
บทสรุปและข้อสังเกต
จีนได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลกัมพูชา ทั้งในด้านการลงทุน การค้า และการท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและเกิดการเชื่อมโยงและบูรณาการเศรษฐกิจของกัมพูชาเข้าภูมิภาค แต่การเข้ามาของจีนก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อชุมชนท้องถิ่น ได้แก่ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การสูญเสียที่อยู่และที่ดินทำกิน อาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ปัญหาอาชญากรรม และผลกระทบต่อธุรกิจท้องถิ่น
นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบข้อสังเกต 2 ประการ 1. คือ การที่จีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ชายทะเลกัมพูชา ผลประโยชน์ยังตกอยู่กับชนชั้นนำ นายทุน ชนชั้นสูงที่มีศักยภาพที่จะปรับตัวรับกับคลื่นการลงทุนของจีนและสามารถหาประโยชน์จากการเข้ามาของจีนได้ ในขณะที่ชาวบ้านระดับล่างที่ไม่มีทุน ไม่มีเส้นสาย ไม่มีทักษะอาชีพ ไม่ได้รับประโยชน์จากการเข้ามาของจีนเท่าที่ควร เช่น การไล่ที่ชาวบ้านเพื่อสร้างเขื่อน รีสอร์ท การที่ทุนจีนเข้ามาแข่งขันกับทุนท้องถิ่นทำให้ธุรกิจที่ไม่มีทุนไม่สามารถอยู่ได้ การลงทุนของจีนเอื้อประโยชน์ต่อชาวจีนเป็นหลัก เช่น ในกรณี Darasakore Seashore Resort ที่ลูกค้าร้อยละ 80 เป็นชาวจีน และพนักงานระดับหัวหน้าเป็นชาวจีน และพนักงานชาวกัมพูชาที่จะเข้ามาทำงานต้องสามารถใช้ภาษาจีนได้เพื่อสื่อสารกับลูกค้าและหัวหน้าที่เป็นชาวจีน จะเห็นได้ว่าชาวบ้านท้องถิ่นที่ไม่สามารถปรับตัวได้ และไม่มีทักษะภาษาจีนจะไม่ได้รับประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนของจีน
ข้อสังเกตประการที่ 2 คือ การเข้ามาของจีนเน้นการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจแต่ขาดการเชื่อมโยงในมิติทางสังคมและวัฒนธรรม อันนำมาสู่ปัญหาทางสังคม เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาความไม่เข้าใจ/ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกัมพูชากับชาวจีน
ดังนั้น การเข้ามาของจีนในกัมพูชาจึงไม่ใช่ win-win situation แต่เป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลและชนชั้นนำของจีนและกัมพูชา ชาวบ้านท้องถิ่นถูกทำให้กลายเป็นคนชายขอบที่อยู่นอกพื้นที่แห่งผลประโยชน์ ดังนั้นทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ของจีนและกัมพูชาควรให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมและวัฒนธรรมมากขึ้น เช่น ควรมีการอบรมให้แก่เอกชน รัฐวิสาหกิจจีนที่จะมาลงทุนในกัมพูชาได้ทราบถึงสังคมและวัฒนธรรมของกัมพูชา และรัฐบาลกัมพูชาควรมีการตรวจสอบ ควบคุม การลงทุนของจีนเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์ เช่น การกำหนดให้บริษัทหรือรัฐวิสาหกิจที่จะเข้ามาลงทุนต้องมีกิจกรรมที่เป็นการรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้รัฐบาลกัมพูชาควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะอาชีพให้ชาวกัมพูชา เช่น จัดอบรมภาษาจีน เพื่อให้ชาวบ้านกัมพูชาสามารถสื่อสารและทำงานร่วมกับชาวจีนได้ การให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมและวัฒนธรรมจะทำให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนของจีนและเป็น win-win situation ระหว่างกัมพูชากับจีนอย่างแท้จริง.
อ้างอิง:
[1] Sihanoukville Special Economic Zone, Brief Introduction[online]. Access from http://www.ssez.com/en/company.asp?Ione=3
[2] Cam McGrath, “Kingdom’s biggest SEZ to get even bigger,” The Phnom Penh Post[online], 2017. Access from http://www.phnompenhpost.com/business/kingdoms-biggest-sez-get-even-bigger
[3] Cheng Sokhorng and Brendan O’Byrne, “Spike in Chinese visitors drives tourism boom,” The Phnom Penh Post[Online], 25 January 2018. Access from https://www.phnompenhpost.com/business/spike-chinese-visitors-drives-tourism-boom
[4] Anna Fifield, “This Cambodian city is turning into a Chinese enclave, and not everyone is happy,” The Washington Post[Online], 29 March 2018. Access from https://www.washingtonpost.com/world/asia_pacific/this-cambodian-city-is-turning-into-a-chinese-enclave-and-not-everyone-is-happy/2018/03/28/6c8963b0-2d8e-11e8-911f-ca7f68bff0fc_story.html?noredirect=on&utm_term=.f04f0ccbc6c1
[5] Union Group (Cambodia), THE BELT AND ROAD INITIATIVE AND CAMBODIA-CHINA COMPREHENSIVE INVESTMENT AND DEVELOPMENT PILOT ZONE AND CAMBODIAN DARA SAKOR SEASHORE RESORT[Online]. Access from http://www.uniongroupcompany.com/index.php/Ch/En/Xmgl/xmgl#page2
[6] Arno Maierbrugger. 2019. Cambodia Becomes Gambling Heaven, Adds 52 New Casino Licenses In 2018. Investvine Southeast Asia’s Business News Site[Online]. Available from: http://investvine.com/cambodia-becomes-gambling-heaven-adds-52-new-casino-licenses-in-2018/
[7] กรุงเทพธุรกิจ, ฮุนเซน’โชว์ 4 ยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจกัมพูชา[ออนไลน์], 19 ธันวาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/679193
[8] Realestate, Sihanoukville Special Economic Zone may be developed as a Shenzhen City in Cambodia[Online], 2016. Access from http://realestate.com.kh/news/sihanoukville-special-economic-zone-may-be-developed-as-a-shenzhen-city-in-cambodia/
[9] Ame Trandem, Letter to the CDM Executive Board Regarding Stung Tatay Dam (Cambodia)[Online], 2013. Access from https://www.internationalrivers.org/resources/letter-to-the-cdm-executive-board-regarding-stung-tatay-dam-cambodia-7808
[10] Brian Kastl, Kong Kimsreng, Sun Kong, Supanuth Chuerattanakul, Ney Prohorsarith and Oul Ran, Study of Coastal Mangrove Forest Devastation and Channel Sedimentation: Community-based Solutions Koh Kong Province, Cambodia)[Online], 2012. Access from https://cmsdata.iucn.org/downloads/mangrove_devastation_koh_kong_report.pdf
[11] Heng Pheakdey, “Hydropower and local community: A case study of the Kamchay dam, a China-funded hydropower project in Cambodia,” Community Development 48, 3 (2017): 385-402.
[12] ADB GMS Secretariat Director, Regional Cooperation & Country Coordination Division Southeast Asia Department, ADB and SPECIAL ECONOMIC ZONE: ADB and the Greater Mekong Subregion Program[Online]. Access from http://www.bibalex.org/Search4Dev/files/378028/216861.pdf
[13] Siphat Touch and Andreas Neef, Resistance to land grabbing and displacement in rural Cambodia[Online], May 2015. Access from https://www.iss.nl/sites/corporate/files/CMCP_16-_Touch_and_Neef.pdf
[14] Mech Dara and Alessandro Marazzi Sassoon, Preah Sihanouk governor becmoans Chiinese influx[online], 2018. Access from https://www.phnompenhpost.com/national/preah-sihanouk-governor-bemoans-chinese-influx
[15] Kali Kotoski and Cheng Sokhorng, Big trouble in little China? Exploring Chinese investment in Sihanoukville[Online], 2017. Access from https://www.phnompenhpost.com/post-depth-business/big-trouble-little-china-0
[16] James Reddick, Mass Deportation After Sihanoukville Cyber-Crime Bust[Online], 2015. Access from http://www.khmertimeskh.com/news/17687/mass-deportation-after-sihanoukville-cyber-crime-bust/
[17] Phan Soumy, Chinese Men Nabbed in Sihanoukville After Clash[Online], 2017. Access from https://www.cambodiadaily.com/news/13-chinese-men-nabbed-in-sville-after-clash-130803/
[18] Khmer Times. Three Chinese kidnappers arrested in Sihanoukville[Online], 2017. Access from http://www.khmertimeskh.com/5095091/three-chinese-kidnappers-arrested-sihanoukville/
[19] CEO CambodiaNews, Chinese fighting in Sihanoukville; 20 arrests[Online], January 2018. Access from https://cambodiaexpatsonline.com/newsworthy/chinese-fighting-sihanoukville-arrests-t17773.html
[20] โพสต์ทูเดย์, แก๊งค์มาเฟียจีนประกาศกร้าวคุม"สีหนุวิลล์"[ออนไลน์], 14 พฤษภาคม 2562. แหล่งที่มา https://www.posttoday.com/world/589112
[21] ประชาไท, กัมพูชาต้องการตัวกลุ่มคนจีนอัดคลิปขู่จะยึดสีหนุวิลล์ ทางการจีนยืนยันไม่ใช่อาชญากร[ออนไลน์], 22พฤษภาคม 2562. แหล่งที่มา https://prachatai.com/journal/2019/05/82575
[22] Kali Kotoski and Cheng Sokhorng, Big trouble in little China? Exploring Chinese investment in Sihanoukville[Online], December 2017. Access from https://www.phnompenhpost.com/post-depth-business/big-trouble-little-china-0