สังคม การเมือง วัฒนธรรม ความเคลื่อนไหวเจาะลึกในเอเชีย

เวียดนาม - บ้านหลังที่สองของซัมซุง:

เหตุใดซัมซุงจึงตัดสินใจให้เวียดนามเป็นบ้านหลังที่สอง และเวียดนามจะได้รับประโยชน์ใดในฐานะเป็นฐานการผลิตที่มีความสำคัญ

นับตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความเสรียิ่งขึ้นภายใต้นโยบาย Doi Moi ในปี 1986 เวียดนามได้ทำลายข้อจำกัดของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมด้วยการเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในกิจการต่างๆ ภายในประเทศ ในปี 2018 หรือกว่าสามสิบปีหลังการปฏิรูป การลงทุนอย่างต่อเนื่องของบริษัทต่างชาติส่งผลให้ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) ของเวียดนามมีมูลค่าสูงถึง 35.46 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศที่ครองตำแหน่งผู้ลงทุนสูงสุดตกเป็นของญี่ปุ่น (364 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ (349.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และจีน (307.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (Duong, 2019)
 
แม้ว่าเกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามเป็นอันดับที่สอง แต่บริษัทชั้นนำของเกาหลีใต้อย่างซัมซุง (Samsung) กลับเป็นบริษัทต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม โดยนับจากการก่อตั้งโรงงานแห่งแรกในปี 2008 ซัมซุงลงทุนในเวียดนามไปแล้วกว่า 17.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Hoa, 2018) เห็นได้จาก Lee Jae-yong รองประธานบริษัทซัมซุงที่กล่าวกับ Nguyen Xuan Phuc นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ระหว่างการเข้าพบเมื่อปลายปี 2018 ว่า บริษัทจะยังคงลงทุนในเวียดนามต่อไปในระยะยาวและมีแผนที่จะขยายธุรกิจเพิ่มเติมในอนาคต (Song, 2018)
 
ซัมซุงกับการลงทุนในประเทศเวียดนาม
 
การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเกาหลีใต้และเวียดนามในปี 1992 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างเป็นทางการของทั้งสองประเทศ นอกจากการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างกันแล้ว บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ยังเห็นลู่ทางการดำเนินธุรกิจในเวียดนามและทยอยกันเข้ามาลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะแรก บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ที่นิยมเข้ามาลงทุนในเวียดนามมักเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานจำนวนมากอย่างอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่เทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น แนวโน้มของบริษัทเกาหลีใต้ที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามจึงเริ่มเปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แทน (Blomenhofer, 2017)
 
ในปี 2008 ซัมซุงเป็นอีกหนึ่งบริษัทเกาหลีใต้ที่ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตโทรศัพท์มือถือของตนมายังเวียดนามแทนการขยายโรงงานที่มีอยู่เดิมในเกาหลีใต้ (Choi, 2014) Samsung Electronics Vietnam (SEV) ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัด Bac Ninh ใกล้กับกรุงฮานอย กลายเป็นโรงงานแห่งแรกของซัมซุงในเวียดนาม โรงงานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยเม็ดเงินลงทุน 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐและว่าจ้างแรงงานกว่า 500 คน (Lan, 2018) ต่อมา เมื่ออุปสงค์ในโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น ซัมซุงจึงได้สร้างโรงงานแห่งที่สอง คือ Samsung Electronics Vietnam Thai Nguyen (SEVT) ขึ้นที่จังหวัด Thai Nguyen รายงานของเว็บไซต์ Business Korea ระบุว่า โรงงานทั้งสองแห่งสามารถผลิตโทรศัพท์มือถือได้รวมกันกว่า 240 ล้านเครื่องต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของโทรศัพท์มือถือทั้งหมดที่ซัมซุงผลิตได้ (Cho, 2015) นอกจากนี้ ซัมซุงยังได้สร้างโรงงานสำหรับผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่นๆ ของตน เช่น โรงงานผลิตโทรทัศน์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม Saigon Hi-Tech Park (SHTP) และบริษัทยังมีแผนขยายธุรกิจไปยังภาคส่วนอื่นๆ ในเวียดนาม อาทิ การลงทุนในโครงการก่อสร้างสนามบิน Long Thanh International Airport ในจังหวัด Dong Nai โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน Vung Anh 3 ในจังหวัด Ha Tinh และโครงการอู่ต่อเรือในจังหวัด Khanh Hoa อีกด้วย (Exim Bank, 2016)
 
อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะขอมุ่งอธิบายการลงทุนของซัมซุงในอุตสาหกรรมผลิตโทรศัพท์มือถือ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของซัมซุงที่ต้องการให้เวียดนามเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของบริษัทหรือมีความสำคัญเป็นรองเพียงประเทศบ้านเกิดอย่างเกาหลีใต้เท่านั้น
 
เพราะเหตุใดซัมซุงจึงเลือกลงทุนในประเทศเวียดนาม
 
การตัดสินใจของซัมซุงในการเลือกเวียดนามเป็นฐานการผลิตมายาวนานนับทศวรรษนำไปสู่การตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดซัมซุงจึงตัดสินใจเช่นนั้น ในประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต นโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่เอื้อต่อการลงทุนของบริษัทต่างชาติ และการขยายตัวของตลาดสมาร์ตโฟนในเวียดนาม
 
ประการแรก การลดต้นทุนการผลิต ในปี 2008 อันเป็นปีที่ซัมซุงต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการลงทุนในประเทศบ้านเกิดหรือประเทศอื่นนั้น ค่าจ้างแรงงานชาวเกาหลีใต้เพศหญิงที่มีวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายเริ่มเพิ่มขึ้นจนแตะระดับ 3,715 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ในขณะที่แรงงานหญิงชาวเวียดนามที่เรียนจบด้วยวุฒิเดียวกันมีอัตราค่าจ้างอยู่ที่ 353 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น (Choi, 2014) ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจหากซัมซุงจะตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่าเพื่อลดต้นทุนการผลิตของบริษัทลง
 
นอกจากเวียดนามแล้ว ซัมซุงยังได้ขยายฐานการผลิตไปยังจีน อินเดีย บราซิล และอินโดนีเซีย เนื่องจากประเทศเหล่านี้ถือเป็นประเทศที่มีอัตราค่าจ้างแรงงานไม่สูงมากเช่นกัน แต่ในกรณีของจีนนั้น การลงทุนของซัมซุงเริ่มต้นตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เพราะในขณะนั้น จีนเป็นประเทศที่มีแรงงานราคาถูกจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของจีนทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป อัตราค่าจ้างแรงงานชาวจีนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ซัมซุงต้องแบกรับต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา โทรศัพท์มือถือสัญชาติจีนอย่างหัวเว่ย (Huawei) เสี่ยวหมี่ (Xiaomi) และออปโป้ (Oppo) กลายเป็นที่นิยมของผู้ใช้งานชาวจีนและเริ่มแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดภายในประเทศจากซัมซุง ผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้ส่งผลให้ซัมซุงทยอยปิดโรงงานของตนในจีน โดย Huizhou Samsung ซึ่งเป็นโรงงานซัมซุงแห่งสุดท้ายในจีนกำลังจะถูกปิดตัวลง หลักจากโรงงานซัมซุงที่เทียนจิน (Tianjin) ได้ถูกปิดตัวไปก่อนหน้านี้ (He, 2019)
 
การปิดโรงงานในจีนกลายเป็นโอกาสของเวียดนามในการดึงดูดซัมซุงให้หันมาลงทุนในประเทศมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเวียดนามนั้นมีความคล้ายคลึงกับจีนในแง่ของประชากรที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เวียดนามมีข้อได้เปรียบตรงที่ประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยทำงาน อีกทั้งยังมีอัตราค่าจ้างต่ำ แตกต่างจากจีนที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและมีค่าแรงที่สูงกว่า ด้วยเหตุนี้ การเลือกเวียดนามเป็นฐานการผลิตหลักจึงมีส่วนสำคัญในการลดต้นทุนการผลิตของซัมซุงได้เป็นอย่างดี
 
----------------
วัยรุ่นชาวเวียดนามมีจำนวนมากกว่า 31 ล้านคนซึ่งให้ความสนใจกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และนิยมซื้อสินค้าที่เพิ่งวางจำหน่ายในอัตราส่วนที่มากกว่าวัยรุ่นในประเทศอื่นๆ เวียดนามจึงเป็นตลาดของคนรุ่นใหม่ (young market) ที่ซัมซุงไม่อาจมองข้ามได้
----------------
 
 
ประการที่สอง นโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่เอื้อต่อการลงทุนของบริษัทต่างชาติ ในอดีต การลงทุนของบริษัทต่างชาติในเวียดนามถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก อันเป็นผลมาจากความซับซ้อนของกฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน แต่เมื่อเวลาผ่านไป รัฐบาลเวียดนามได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลเวียดนามจึงได้ออกกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุน อาทิ กฎหมายการลงทุน ค.ศ. 2014 และกฎหมายวิสาหกิจ ค.ศ. 2014 รวมไปถึงการลดระเบียบกฎเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจ และการให้สิทธิประโยชน์ต่อบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม เพื่อให้เวียดนามมีความโดดเด่นมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน
 
ซัมซุงเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลเวียดนามทั้งในทางตรงและทางอ้อม ในทางตรงนั้น รัฐบาลเวียดนามได้ดึงดูดการลงทุนจากซัมซุงด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแก่โรงงานของซัมซุงทั้งสองแห่ง เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้ในช่วง 4 ปีแรกของการดำเนินกิจการและหลังจากนั้นให้จ่ายในอัตราร้อยละ 10 เป็นเวลา 27 ปี หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนภาษีเงินได้ที่บริษัทสัญชาติเวียดนามต้องจ่ายเท่านั้น (VIETNAM NEWS, 2018) นอกจากนี้ ซัมซุงยังได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรีเวียดนาม-เกาหลีใต้ (The Vietnam-South Korea Free Trade Agreement) ที่ระบุว่า เกาหลีใต้จะลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามลงร้อยละ 95 ในขณะที่เวียดนามจะลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้ลงร้อยละ 89 (TUOI TRE NEWS, 2015) ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลให้ซัมซุงสามารถนำเข้าวัตถุดิบและส่งออกสินค้าได้ในราคาถูกลงและส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงตามไปด้วย
 
ประการที่สาม การขยายตัวของตลาดสมาร์ตโฟนในเวียดนาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตทำให้ตลาดสมาร์ตโฟนในเวียดนามสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่า เวียดนามมีสมาร์ตโฟนที่กำลังถูกใช้งานกว่า 30-40 ล้านเครื่อง (Hosokawa and Tomiyama, 2018)
 
ในปี 2017 ซัมซุงยังคงเป็นสมาร์ตโฟนที่ชาวเวียดนามส่วนใหญ่นิยมใช้กันมากที่สุด โดยซัมซุงสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึงร้อยละ 46.5 ในขณะที่ออปโป้ของจีนและแอปเปิลของสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 19.4 และ 9.2 ตามลำดับ (Tomiyama, 2018) ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ยอดขายของซัมซุงทิ้งห่างคู่แข่งค่อนข้างมาก ได้แก่ ราคา ความหลากหลาย และการเข้าถึงผู้บริโภค
 
ในแง่ของราคานั้น ซัมซุงมีราคาต่างจากแอปเปิลค่อนข้างมาก ในขณะที่ผู้บริโภคต้องใช้เงินประมาณ 16-22 ล้านด่องเพื่อซื้อไอโฟนของแอปเปิล แต่กับซัมซุงแล้ว ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสมาร์ตโฟนได้ในราคาเริ่มต้นเพียง 1 ล้านด่องเท่านั้น (Mybestprice, 2019) อย่างไรก็ตาม ในกรณีของซัมซุงและออปโป้กลับแตกต่างออกไป เนื่องจากสมาร์ตโฟนของทั้งสองบริษัทมีความคล้ายคลึงกันทั้งในแง่ของราคาและความหลากหลาย แต่ซัมซุงมีข้อได้เปรียบเหนือออปโป้ในเรื่องการเข้าถึงผู้บริโภค เนื่องจากซัมซุงเข้ามาลงทุนในเวียดนามมาเป็นเวลานาน ทั้งยังมีโรงงานผลิตสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง ซัมซุงจึงสามารถกระจายสินค้าของตนไปยังพื้นที่ต่างๆ ของเวียดนามและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคชาวเวียดนามมากกว่าออปโป้
 
สำหรับซัมซุงแล้ว อนาคตของบริษัทในเวียดนามยังคงสดใส เนื่องจากตลาดสมาร์ตโฟนในเวียดนามยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการที่วัยรุ่นชาวเวียดนามซึ่งมีจำนวนมากกว่า 31 ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งหมด 96 ล้านคนให้ความสนใจกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และนิยมซื้อสินค้าที่เพิ่งวางจำหน่ายในอัตราส่วนที่มากกว่าวัยรุ่นในประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ ซัมซุงจึงมองว่าเวียดนามเป็นตลาดของคนรุ่นใหม่ (young market) ที่บริษัทไม่อาจมองข้ามได้ (Kim, 2019)
 
Win-win situation (?) : เวียดนามได้อะไรจากการเป็นฐานการผลิตของซัมซุง
 
ผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลที่ซัมซุงได้รับจากเวียดนามทำให้คนบางกลุ่มมองว่า รัฐบาลเวียดนามให้สิทธิประโยชน์แก่ซัมซุงมากเกินไปและอาจทำให้ประเทศไม่ได้อะไรจากการลงทุนในครั้งนี้ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งเราจะพบว่า ซัมซุงไม่ได้เป็นผู้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว เวียดนามเองก็ได้รับประโยชน์จากซัมซุงเช่นเดียวกัน เนื่องจากซัมซุงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม อีกทั้งการลงทุนของซัมซุงยังก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศ โดยข้อมูลในปี 2017 ระบุว่า บริษัทซัมซุงในเวียดนามมีการจ้างงานถึง 170,000 ตำแหน่ง (Lan, 2018)
 
ที่ผ่านมา เวียดนามมักถูกมองว่าเป็นประเทศที่แรงงานมีทักษะและค่าแรงต่ำ รัฐบาลเวียดนามจึงมุ่งที่จะแก้ไขภาพลักษณ์ดังกล่าวด้วยการพัฒนาทักษะของแรงงานให้ดีขึ้นผ่านการออกกฎหมายการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Law on Technology Transfer) ในปี 2017 โดยรัฐบาลเวียดนามมองว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นวิธีการสำคัญที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศผู้รับเทคโนโลยีสามารถนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปต่อยอดได้ โดยไม่ต้องค้นคว้าเองตั้งแต่เริ่มต้น (ชญานี ชวะโนทย์, 2561) ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงระบุว่า บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิต การถ่ายทอดความรู้ การจัดฝึกอบรม หรือการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำด้านเทคโนโลยีแก่เจ้าหน้าที่ชาวเวียดนาม เป็นต้น (Ministry of Science and Technology, 2017)
 
ในฐานะบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม ซัมซุงจึงถูกคาดหวังให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับแรงงานชาวเวียดนามเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ซัมซุงจึงได้ก่อตั้ง Vietnam Mobile Research and Development Centre (SVMC) ขึ้นในปี 2012 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของซัมซุง โดยเฉพาะสมาร์ตโฟน
 
SVMC ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของทีมวิศวกรชาวเวียดนามด้วยการพัฒนาระบบซอฟแวร์ของสมาร์ตโฟนซัมซุงหลายรุ่น เช่น Galaxy V และ Galaxy J แต่กรณีที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของ SVMC ได้มากที่สุดคือ การพัฒนาซอฟแวร์ของซัมซุง Galaxy A7 ซึ่งเป็นสมาร์ตโฟนที่มีคุณภาพและเทคโนโลยีขั้นสูงได้ในปี 2018 Shim Won Hwan ผู้อำนวยการทั่วไปของซัมซุงเวียดนามกล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า
 
“เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทีมวิศวกรเวียดนามประสบความสำเร็จในการดำเนินการพัฒนาระบบซอฟแวร์สำหรับผลิต Galaxy A7 และพวกเราหวังว่า ความสำเร็จในครั้งนี้จะช่วยเปลี่ยนทัศนคติของประชาคมโลกที่มีต่อเวียดนาม ซัมซุงเวียดนามไม่ได้มุ่งหวังที่จะเป็นฐานการผลิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของซัมซุงเท่านั้น แต่พวกเรามุ่งหวังที่จะเป็นฐานการวิจัยและพัฒนาโทรศัพท์มือถือที่สำคัญที่สุดของซัมซุงด้วยเช่นกัน” (Ha, 2018)
 
บทสรุป
 
ปัจจุบันซัมซุงเป็นบริษัทที่มียอดขายสมาร์ตโฟนมากที่สุดในโลก โดยในปี 2018 ซัมซุงสามารถจำหน่ายสมาร์ตโฟนได้ถึง 292.3 ล้านเครื่อง (Watcharakul Pattanaprateep, 2562) ความสำเร็จของซัมซุงอาจมีที่มาจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ หรือกลยุทธ์ทางการตลาด นอกจากนี้ การตัดสินใจเข้ามาลงทุนในเวียดนามยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จดังกล่าว เพราะซัมซุงคงไม่อาจหาฐานการผลิตที่มีความพร้อมทั้งด้านแรงงาน นโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนของภาครัฐ และตลาดสำหรับกระจายสินค้าได้เทียบเท่ากับเวียดนาม เช่นเดียวกับเวียดนาม การเป็นที่ตั้งของโรงงานซัมซุงย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศในหลายๆ ด้านทั้งในด้านการสร้างรายได้ให้กับประเทศ การเพิ่มอัตราการจ้างงาน และการพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีแก่ชาวเวียดนาม จนส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นที่จับตามองของนักลงทุนจากทั่วโลก
 
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามถือเป็นความท้าทายต่อซัมซุงอีกทางหนึ่ง เนื่องจากเมื่อเวียดนามกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักลงทุนจำนวนมาก ซัมซุงย่อมต้องเผชิญกับปัญหาจำนวนแรงงานไม่เพียงพอและการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างแรงงาน ซึ่งจะส่งผลให้ข้อได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตของบริษัทลดต่ำลง นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติเวียดนามอย่าง Vingroup และ Asanzo ต่างก็เห็นโอกาสในตลาดสมาร์ตโฟนเวียดนามและหันมาผลิตสมาร์ตโฟนเพื่อวางจำหน่ายแข่งกับซัมซุงเช่นเดียวกัน (Tomiyama, 2018)
 
ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าธุรกิจของซัมซุงในเวียดนามจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่าไรนัก แต่ซัมซุงก็ไม่ควรประมาทและควรหามาตรการในการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ซัมซุงอาจจะไม่สามารถปรับตัวได้ทันและต้องสูญเสียฐานการผลิตที่มีค่าอย่างเวียดนามไป เหมือนดังที่ซัมซุงเคยประสบจากกรณีของจีนมาแล้ว.
 
 
 
 
 
 
 
 
 
เอกสารอ้างอิง
 
Blomenhofer, M. (2017, Mar 1). The Rise of Korean Investment in Vietnam. Kroll. Retrieved from https://www.kroll.com/en/insights/publications/apac/the-rise-of-korean-investment-in-vietnam
 
Cho, J. Y. (2015, January 28). 50% of Samsung Mobile Phones Made in Vietnam. BusinessKorea. Retrieved from http://www.businesskorea.co.kr/news/articleView.html?idxno=8785
 
Choi, Y. H. (2014, July 15). Why did Samsung Electronics go to Vietnam? The Dong-A Ilbo. Retrieved from http://www.donga.com/en/article/all/20140715/408696/1/Why-did-Samsung-Electronics-go-to-Vietnam
 
Duong, T. (2019, February 14). Japan stays in lead in FDI in Vietnam. Vietnam Investment Review. Retrieved from https://www.vir.com.vn/japan-stays-in-lead-in-fdi-in-vietnam-65780.html
 
Exim Bank. (2016). Trade and Investment Guidebook. Retrieved July 9, 2019, from http://www.exim.go.th/doc/newsCenter/47488.pdf
 
He, H. (2019, June 15). Samsung’s last China smartphone factory closing, raising questions about China’s role in global value chains. South China Morning Post. Retrieved from https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3014564/samsungs-last-china-smartphone-factory-closing-raising
 
Hoa, V. (2018, September 9). FDI giants - a success story. Viet Nam News. Retrieved from https://vietnamnews.vn/economy/465241/fdi-giants-a-success-story.html#LBEyX54oBOGo1W1a.97
 
Hosokawa, K. & Tomiyama, A. (2018, July 23). Samsung suppliers in Vietnam branch out to new frontiers. Nikkei Asian Review. Retrieved from https://asia.nikkei.com/Business/Business-trends/Samsung-suppliers-in-Vietnam-branch-out-to-new-frontiers
 
Kim, E. J. (2019, April 5). Samsung Electronics’ Vietnamese Subsidiaries Thriving. BusinessKorea. Retrieved from http://www.businesskorea.co.kr/news/articleView.html?idxno=30610
 
Lan, N. (2018, April 21). Samsung Vietnam celebrates 10th anniversary of Samsung Electronics Vietnam. Vietnam Economic Times. Retrieved from https://vneconomictimes.com/article/business/samsung-vietnam-celebrates-10th-anniversary-of-samsung-electronics-vietnam
 
Ministry of Science and Technology. (2017). Law on Technology Transfer. Retrieved July 9, 2019, from https://www.most.gov.vn/en/Pages/Detaildocument.aspx?vID=45
 
Mybestprice. (2019). Best Smartphones of 2019. Retrieved July 2, 2019 from https://www.mybestprice.vn/electronics/phones-and-tablets/smartphones-price-list-vietnam.html
 
Song, S. H. (2018, October 31). Samsung chief vows to expand investments in Vietnam. The Investor. Retrieved from http://www.theinvestor.co.kr/view.php?ud=20181031000223
 
Thanh Ha. (2018, November 21). Vietnam becoming Samsung’s global R&D headquarters. Vietnam Investment Review. Retrieved from https://www.vir.com.vn/vietnam-becoming-samsungs-global-rd-headquarters-63998.html
 
Tomiyama, A. (2018, July 02). Vietnam smartphone makers break from Samsung empire. Nikkei Asian Review. Retrieved from https://asia.nikkei.com/Business/Companies/Vietnam-smartphone-makers-break-from-Samsung-empire
 
TUOI TRE NEWS. (2015, December 21). Vietnam’s free trade agreement with South Korea takes effect. Tuoi Tre News. Retrieved from https://tuoitrenews.vn/business/32338/vietnams-free-trade-agreement-with-south-korea-takes-effect
 
VIET NAM NEWS. (2018, February 10). Foreign firms gain from lowest Vietnam taxes. The Nation. Retrieved from www.nationmultimedia.com/detail/asean-plus/30338440
 
Watcharakul Pattanaprateep. (3 กุมภาพันธ์ 2562). Samsung ครองยอดขายสมาร์ทโฟนสูงสุดตามด้วย Apple, Huawei อยู่อันดับ 3. Beartai. เข้าถึงจาก https://www.beartai.com/news/mobilenews/307270
 
ชญานี ชวะโนทย์. (2561). นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศเวียดนาม. พัฒนาการเศรษฐกิจปริทรรศน์. 12(1), 89. เข้าถึงจาก https://www.tci-thaijo.org/index.php/NER/article/view/112053/87352

 

ชื่อผู้แต่ง

ปภังกร เสลาคุณ


ประวัติผู้แต่ง

ผู้ช่วยนักวิจัย ประจำศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาตรีสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ผลงานท่ีน่าสนใจ

บทความใน www.mekongchula.org อาทิ - Modernizing coffee culture: พลวัตวัฒนธรรมกาแฟในเวียดนาม - มองเวียดนามผ่านถนนคนเดินแห่งแรกของนครโฮจิมินห์ - ทุกข์คนเมือง: เมื่อเวียดนามต้องรับมือ PM2.5