สังคม การเมือง วัฒนธรรม ความเคลื่อนไหวเจาะลึกในเอเชีย

โหราศาสตร์ของเอเชีย: ความเชื่อ ความศรัทธา ในยุคเทคโนโลยีสร้างความพลิกผัน:

ประวัติศาสตร์ของโหราศาสตร์และการปรับตัวในยุคเทคโนโลยีพลิกผันที่ทำให้รูปแบบการทำนายโชคชะตาเปลี่ยนไป

ความเชื่อมโยงกันทางด้านวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับโหราศาสตร์ และการดูดวง ของหลายๆ ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน มีจุดกำเนิดทางด้านโหราศาสตร์ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเช่นเดียวกับประเทศไทยทั้งความเชื่อด้านฤกษ์ยาม ดวงดาว ชะตาราศี ความฝัน รางบอกเหตุ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถูกยึดโยงให้เข้ากับตนเองและพยายามหาความหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกับตนเอง สิ่งรอบข้าง รวมถึงการดำรงชีวิตประจำวัน
 
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความเชื่อ ความศรัทธาที่เกี่ยวกับโหราศาสตร์และการดูดวง ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญของสังคมและประเทศ แต่ทางด้านความเชื่อทางด้านจิตวิทยาและโหราศาสตร์นั้นก็ยังคงสืบทอดและดำรงอยู่ได้จนกลายเป็นประเพณี วัฒนธรรมที่ฝังรากลึกลงในจิตใจของคนส่วนมาก ที่สามารถดำรงอยู่ได้มาจนถึงปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย
 
หากพิจารณาถึงการเข้ามามีบทบาทของโหราศาสตร์ และการดูดวง ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สอดรับกับเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี การดูดวงได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และเข้าถึงได้กับคนทุกระดับ ทุกชนชั้น และรูปแบบวิธีการดูดวงเกิดความหลากหลาย สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนในยุคปัจจุบันมากขึ้น เข้าถึงง่าย สะดวกสบาย และสามารถเข้าถึงตัวตนของหมอดูได้ง่าย เช่น การดูดวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (social network) แอพพลิเคชั่นต่างๆ (application) ถ่ายทอดสด (Live) รวมไปถึงการดูดวงโดยใช้หุ่นยนต์ (robotic) สิ่งเหล่านี้สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบและวิธีการดูดวงแบบดั้งเดิมจนหมดสิ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนเสริมเพื่อสร้างจุดแข็งให้กับวงการโหราศาสตร์ และยังคงไว้ถึงความเชื่อความศรัทธาที่ดี ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และการผสมผสานกลมกลืนที่แตกต่างกัน
 
ผลจากงานวิจัยหลายชิ้นสะท้อนให้เห็นความสอดคล้องกันว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อว่าวิชาโหราศาสตร์มีการเก็บรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงในเชิงสถิติของความการเปลี่ยนแปลง การโคจรของดวงดาว และยังเป็นศาสตร์ลี้ลับที่สามารถใช้ทำนายโชคชะตา คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญด้านคุณค่าทางด้านจิตใจ
 
วิวัฒนาการของศาสตร์การดูดวง
 
เมื่อพูดถึงโหราศาสตร์ สิ่งที่คนส่วนมากนึกถึงเป็นอันดับแรกคือ การดูดวง ทว่าน้อยคนมากนักที่จะรู้และเข้าใจถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานเหล่านั้น ซึ่งที่มาของโหราศาสตร์ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistorical period) มีการรวบรวมข้อมูลให้เห็นจุดเริ่มต้นของโหราศาสตร์ เริ่มจากการสังเกตกลุ่มดาวบนท้องฟ้า และมีการยึดโยงกับความเชื่อ ศาสนา (pallas, 2006) ซึ่งในยุคก่อนประวัติศาสตร์ถูกค้นพบว่า การทำนายดวงชะตานั้นจะเชื่อมโยงและมีวิธีการที่คล้ายคลึงกับพิธีกรรมทางศาสนา ที่ความเชื่อถูกเน้นไปในเรื่องเทพเจ้าเป็นหลัก อีกทั้งความเชื่อเรื่องดวงดาวมีบทบาทในการกำหนดความหมายของการทำนายจนมาถึงในยุคเมโสโปเตเมีย (Mesopotamian period) ซึ่งยุคดังกล่าวถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดหลักของยุคโหราศาสตร์ โดยมีที่มาจากชนกลุ่มหนึ่งทางตอนใต้ของบาบิโลน ส่งผลให้การดูดวงเข้ามามีบทบาทสำคัญ นำมาใช้วิเคราะห์ในการทำนายทายทักแก่บุคคลชั้นสูงและบุคคลสำคัญในประเทศ นอกจากนั้นยังมีบทบาทด้านการเตือนภัยหรือลางบอกเหตุ ด้วยเหตุนี้เองโหราศาสตร์จึงมีความเจริญถึงขีดสุด หลังจากนั้นได้มีการจดบันทึกคำทำนายเพื่อเป็นรูปแบบในการคาดคะเนของดวงดาวอย่างเป็นระบบ
 
จนถึงช่วงยุคกรีก (Hellenistic period) ที่อียิปต์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรีก จึงทำให้อียิปต์ได้รับอิทธิพลและกลายเป็นศูนย์กลางของโหราศาสตร์ ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการรวมเอาความรู้เก่าและความรู้ใหม่ของศาสตร์การดูดวงเข้ามาผสมผสานระหว่างกัน จึงเกิดการแพร่กระจายศาสตร์และความรู้ออกไปในยังดินแดนเมโสโปเตเมีย อิหร่าน ตอนเหนือของอินเดีย และได้ขยายไปยังแทบทวีปเอเชีย (pallas, 2006)
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีหลักฐานมากมายที่สะท้อนให้เห็นว่าโหราศาสตร์ มีความโดดเด่นในเชิงประจักษ์ที่สำคัญ ได้แก่ (1) การลำดับดาวเคราะห์ซึ่งเป็นที่มาของยามสากล (Planetary Hours) (2) การกำหนดชื่อวันทั้งเจ็ด (3) การนำโหราศาสตร์มาประยุกต์ใช้ทางด้านการแพทย์ อัญมณี สมุนไพร สี และ (4) เกิดจักรราศี และการผูกดวงชะตา เวลาเกิด เพื่อใช้ทำนายโชคชะตาให้กับบุคคลทั่วไป ต่อมาในยุคกลาง (Medieval period) ถือได้ว่าเป็นยุคมืดของโหราศาสตร์ เนื่องจากทางคริสตจักร แสดงทัศนคติในทางลบต่อความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ว่าเป็นการกระทำที่ผิดจารีตประเพณี ทำให้โหราศาสตร์เกือบล่มสลายภายในช่วงต้นของยุคกลาง แต่ในช่วงหลังยุคกลางหลังจากที่อาณาจักรโรมันถูกทำลาย โหราศาสตร์ก็ได้เข้ามาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งในอาณาจักรอิสลาม ถึงขั้นมีการแปลตำราโหราศาสตร์ออกมาเป็นภาษาอาหรับ ที่ใช้สำหรับชาวเปอร์เซีย อาหรับ และยิว
 
จนกระทั่งเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance period) โหราศาสตร์และการดูดวงได้ถูกผนวกเข้ากับการแพทย์ ดนตรีและได้ผสมผสานกับเวทมนต์ลี้ลับ รวมถึงการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ในการพยากรณ์ ซึ่งในยุคนี้ได้รับการพัฒนาศาสตร์การดูดวงได้อย่างเต็มที่ จนเกิดการแพร่หลายในราชวงศ์กษัตริย์และผู้นำทางศาสนา ในช่วงยุคใหม่ (Modern period) เป็นช่วงที่โหราศาสตร์ได้ใช้ความรู้ทางด้านจิตวิทยาเข้ามาผสมผสาน มีการปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนให้เหลือเฉพาะส่วนสำคัญเผยแพร่ออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อว่า "โหราศาสตร์ยูเรเนียน" จนมาถึงในช่วงของยุคในศตวรรษที่ 21 โหราศาสตร์ได้เข้าถึงประชาชนทุกระดับที่สนใจเรื่องการดูดวง จนทำให้โหราศาสตร์หรือที่เรียกกันว่าดูดวง เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหลายๆ สังคมเช่นเดียวกับในสมัยของยุคศิลปะวิทยาการอีกครั้ง (ภารต ถิ่นคำ, 2553)
 
จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ด้านโหราศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่า โหราศาสตร์นั้นผูกติดกับความเชื่อ ศาสนาและความศรัทธา ได้มีการจดบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ แต่ถึงอย่างไรก็ดีข้อมูลเหล่านั้นก็ได้รับการถ่ายทอดสืบเนื่องต่อกันมาจากยุคสู่ยุคจนเข้าสู่ปัจจุบันที่เป็นยุคแห่งโลกาภิวัตน์
 
สังคมในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออก (Asian+3 Summit) กับการดูดวง
 
จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การแพร่กระจายของโหราศาสตร์ได้เข้ามามีอิทธิพลและเข้าถึงคนทั่วไปได้อย่างไม่มีข้อปิดกันเหมือนในอดีตที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากการได้รับความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม บรรทัดฐานทางสังคมที่ได้รับอิทธิพลมาจากยุคเมโสโปเตเมีย (Mesopotamian period) ผนวกกับความรู้เดิมทางศาสตร์ของการทำนายทายทักที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพชน จากรุ่นสู่รุ่น ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีผลทำให้ประเทศในแถบเอเชียบางส่วนได้รับอิทธิพลมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จึงเกิดเป็นอาชีพหมอดู
 
อาชีพหมอดู เป็นสิ่งหนึ่งที่ได้รับความสนใจ รวมถึงประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ด้วยปัจจุบันโลกเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จนเกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ธุรกิจ การค้าการลงทุน ดังเช่น ธุรกิจหมอดูในตลาดเกาหลีใต้ มีการนำเทคโนโยลีเข้ามาใช้ในการดูดวง และทำนายทายทัก โดยใช้หุ่นยนต์ซึ่งเป็นที่นิยมมากสำหรับคนเกาหลีใต้ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และมีเงินเดินสะพัดของตลาดหมอดูเกาหลีใต้มากถึง 3,700 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 1.16 แสนล้านบาท (Korea Economic Daily, 2018) หรือแม้กระทั่งในประเทศฟิลิปปินส์ ที่ผ่านมาในปี 2559 ที่มีการเลือกผู้นำฟิลิปปินส์คนใหม่ ได้มีหมอดูออกมาทำนายว่า นายดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) จะได้เป็นผู้นำคนใหม่อย่างแน่นอน (Thai PBS, 2015) จนในที่สุดได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี โดยเป็นไปตามที่หมอดูทำนายไว้อย่างแม่นยำ สร้างความตื่นเต้นให้กับกระแสการเลือกประธานาธิบดีในตอนนั้นเป็นอย่างมาก
 
หรือแม้กระทั่งความเชื่อ ความศรัทธา ของประเทศกัมพูชา (manager online, 2007)  กัมพูชาได้ชื่อว่าเป็นแหล่งของหมอดูในเอเชีย และยังคงให้ความสำคัญกับการดูดวงเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกันกับประเทศไทย ที่มีหมอดูที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศเป็นอย่างมาก (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 2551) ชี้ให้เห็นข้อมูลการดูดวงในอดีตที่ผ่านมาว่า แนวโน้ม “ธุรกิจดูดวง” ว่ามีหลายคนเลือกที่จะใช้บริการหมอดูเพื่อต้องการทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ของชีวิตและเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น คนกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่บีบคั้น ทำให้เกิดภาวะเครียด สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ทุกคนพยายามหาทางออกที่ดีกว่าให้กับชีวิตและจิตใจของตนเอง โดยทางเลือกหนึ่งของคนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยคือ“ดูดวง” ประเทศพม่า มีหมอดูอีทีที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ทำให้ผู้นำของหลายประเทศใช้บริการอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยความเชื่อ วัฒนธรรม และค่านิยม รวมถึงการรับรู้ของคนในกลุ่มอาเซียนนั้น มีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน ฉะนั้น จึงเกิดการให้ความสำคัญของหมอดู และได้รับการเคารพยกย่องเปรียบเสมือนครูอาจารย์ (Jaroenkitboworn Kandaporn, 2010)
 
ดังงานวิจัยที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นด้านความเชื่อ ความศรัทธา ของศาสตร์การดูดวง และผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหมอดูไว้ในหลากหลายมุมมอง ดังเช่น งานวิจัยเรื่อง Astrology in Thailand: the future and recollection of the past (Cook & Nerida M., 1989) ได้ศึกษาบทบาทของหมอดูในกรุงเทพมหานคร ภายใต้ความเป็นเมืองสมัยใหม่ และทัศนคติของคนไทยที่มีต่อหมอดู ซึ่งชี้ให้เห็นว่า หมอดูเน้นการตีความที่ทำให้เกิดความน่าสนใจของแต่ละบุคคล แม้จะไม่ได้เป็นวิชาที่มีการศึกษาในวงกว้าง แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่สนใจร่ำเรียนหลักโหราศาสตร์โดยเฉพาะศาสตร์แห่งการทำนายดวงชะตา (smeleader, 2019) หรือแม้กระทั่งงานวิจัยต่างประเทศของสังคมอเมริกัน เรื่อง Fortune-Telling: Fact Fiction & Fantasy ได้เสนอมุมมองของประชาชนในสังคมอเมริกันและยุโรปบางส่วน ที่ยังให้ความสำคัญกับการดูดวง โดยแบ่งมุมมองออกเป็น 3 ด้านต่อการดูดวง คือ 1) การดูดวงเป็นเรื่องจริง (Fact) 2) การดูดวงเป็นเรื่องแต่งขึ้น (Fiction) และ 3) การดูดวงเป็นเรื่องลี้ลับ อัศจรรย์ (Fantasy) ซึ่งคนส่วนมากเชื่อว่าการดูดวงมีการเก็บรวบรวมข้อมูลตามหลักสถิติ และนำมาให้ความหมายทำให้เกิดความแม่นยำ จนทำให้เกิดความสนใจในวงกว้าง โดยมีเป้าหมายเพื่อไขข้อสงสัยหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น และทำให้เกิดความสุขทางด้านจิตใจ (Benjamin, 2013)
 
---------------
"...แรงจูงใจของการดูดวงเกิดจากความหนาแน่นของจำนวนประชากร เป็นผลทำให้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรเปลี่ยนแปลงไป ทั้งแรงกดดันทางสังคมและการแข่งขันที่เพิ่มสูง..."
------------ 
 
ทัศนคติและวัฒนธรรมการดูดวง
 
การสำรวจแนวโน้มพฤติกรรมการดูดวงของคนสังคมเมือง ในเขตกรุงเทพมหานคร ข้อมูลเมื่อปี 2559 ทำให้เห็นปัจจัยที่เป็นต้นเหตุ หรือเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการดูดวงว่าเกิดจากความหนาแน่นของจำนวนประชากร เป็นผลทำให้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรเปลี่ยนแปลงไป ทั้งแรงกดดันทางสังคม ความแข่งขันสูง เช่น อาชีพ การศึกษา อำนาจหน้าที่ โอกาสและการเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ (Norman L.M., 1978) ทั้งการได้รับวัฒนธรรมภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี จนทำให้คนในสังคมไม่อาจปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดปัญหาความเครียด ความกดดัน และไม่สามารถหาทางออกให้กับตนเองได้ (Crutchfield R.S. Ketch avid and Ballanchey Edgerton L, 1966) ซึ่งสิ่งที่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากปัญหาเหล่านั้นคือ การทำให้เกิดความทุกข์ทางด้านจิตใจ และการใช้ชีวิตอย่างไม่เป็นปกติในลักษณะเลื่อนลอยและไร้จุดหมาย ดังนั้นสิ่งที่ต้องการคือ การหาทางออกให้กับตัวเอง เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านจิตใจ
 
ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า การดูดวงถือเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจมากในกลุ่มอาชีพพนักงานเอกชน พนักงานราชการ และนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่สนใจใช้บริการดูดวงมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่น เห็นได้ชัดว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้สึกคาดหวัง (เพื่อให้เป็นอย่างที่คิดและเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับสถานการณ์และปัญหา) ร้อยละ 49.6 อีกร้อยละ 32.0 ใช้บริการดูดวงเพราะความเครียด (เพื่อให้สามารถจัดการกับสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจได้) และอีกร้อยละ 18.4 ใช้บริการดูดวงเพราะความกลัวอนาคตที่ยังมาไม่ถึง (เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเองในอนาคต) และเรื่องที่ได้รับความสนใจในการดูดวงมากที่สุด พบว่า อันดับแรกเป็นเรื่องการงาน อันดับสอง ได้แก่ ด้านการเงิน/ธุรกิจ และอันดับสาม ได้แก่เรื่องความรัก 
 
ทั้งนี้หากพิจารณาในด้านของค่าใช้จ่ายในการดูดวงจากงานวิจัยที่ผ่านมา ในหลายงานวิจัยสอดคล้องกันว่า (ณัฐยา น้อยเหลือ, 2546 และกฤติ ตั้งพรโชติช่วง, 2552) เมื่อนำมาเปรียบเทียบในเชิงสถิติในห้วงเวลาล่าสุดในปี 2550 (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 2551) พบว่า ธุรกิจดูดวงในประเทศไทยมีเม็ดเงินสะพัดมากถึง 2,500 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสร้างเม็ดเงินให้กับธุรกิจและเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการดูดวงเป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูงสุดที่ผู้ใช้บริการยอมจ่ายได้มากที่สุด อยู่ที่ประมาณ 2,000 – 5,000 บาท ต่อครั้ง อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ใช้บริการจำนวนมากที่นิยมใช้บริการดูดวงผ่านระบบออนไลน์ (Sinthuwongsri Akkharakit, 2016) ผู้ใช้บริการดูดวงมีความต้องการอย่างหลากหลาย และสามารถเลือกใช้บริการหมอดูได้อย่างหลากหลาย เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้บริการดูดวงมีปัจจัยทางด้านเพศ อายุ วิถีชีวิต และทุนความรู้รวมถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการดูดวงที่แตกต่างกัน
 

อารมณ์และความรู้สึกก่อนตัดสินใจดูดวง (ที่มา: perception, addiction and impact of fortune – telling, 2560)
 
ทั้งนี้หากพิจารณาในกลุ่มประเทศอาเซียน กรณีของประเทศเกาหลีใต้ ที่มีวัฒนธรรมการดูดวงผสมผสานกับความเชื่อ ความศรัทธาเป็นอย่างมากของสังคมเมืองและผนวกกับความเชื่อเรื่องเหนือสิ่งธรรมชาติ ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งเชื่อมโยงกับธรรมชาติและเรื่องลี้ลับอยู่ค่อนข้างมาก ภายใต้ประชากรกว่า 51 ล้านคนของเกาหลีใต้ ข้อมูลของภาครัฐระบุว่า มีชาวพุทธจำนวน 46,905 คน ชาวคริสต์ แบ่งเป็นนิกายโปรเตสแตนต์ 14,483 คน และนิกายคาธอลิค 15,918 คน ไม่ว่าจะอยู่ในศาสนาใดก็สามารถดูดวงได้ หรือคนไม่มีศาสนาก็ดูได้ (Thongchai Cholsiripong, 2018) คนเกาหลีใต้ ส่วนมากยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องการดูดวง โดยทุกเพศทุกวัย และทุกช่วงกลุ่มอายุจะมีประเด็นที่แตกต่างกันออกไป สิ่งหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากการดูดวง และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีคนเกาหลีที่เปลี่ยนชื่ออย่างถูกต้องกฎหมายไปแล้วกว่า 1.5 ล้านคน 
 
หากพิจารณาถึงสังคมของประเทศเกาหลีใต้พบว่า ประเทศเกาหลีใต้ได้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ธุรกิจดูดวงดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูง (Advanced robotics) ที่มีความคล่องแคล่วและมีความเป็นอัจฉริยะ พร้อมทั้งสามารถปฏิบัติงานที่ละเอียดอ่อนมากได้ในยุคแห่งเทคโนโลยี เกิดการผลิตแอพพลิเคชั่นมากมายที่เน้นทำการตลาดดูดวงแบบออนไลน์ โดยแอพพลิเคชั่นยอดนิยมในเกาหลีใต้ตอนนี้คือ Jeomsin รูปแบบการทำงานของแอพพลิเคชันนี้คือ จะทำการส่งข้อความทำนายของแต่ละวันผ่านวิธีต่างๆ เช่น ให้เอาฝ่ามือไปโชว์ให้กล้องดู หรือถ่ายรูปแล้วส่งไปในกรณีที่สำนักนั้นดูดวงผ่านใบหน้า เป็นต้น
 
ไม่เพียงแต่ประเทศเกาหลีใต้จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาจับกับธุรกิจเท่านั้น แต่ยังพบว่ามีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไปอีกขั้นในวงการธุรกิจดูดวง เพราะได้มีการสร้างหุ่นยนต์ดูดวงขึ้นมา มีชื่อว่า “Buddha I” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถทำนายทายทักใบหน้าของผู้เข้ามาใช้บริการดูดวง และระบุได้ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร เช่น มีความสุข โกรธ เศร้า และทำนายดวงของคนๆ นั้นได้ในเบื้องต้น
 
เทคโนโลยีสร้างความพลิกผัน (disruptive technology) กับการดูดวง
 
เทคโนโลยีสร้างความพลิกผัน (disruptive technology) คือ นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าให้กับตัวสินค้าและธุรกิจ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรง (disrupt) ต่อตัวสินค้าและธุรกิจเดิม รวมทั้งอาจจะทำให้ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดิม ๆ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งต่างจากนวัตกรรมทั่วไปที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพของสินค้า หรือลดต้นทุนกระบวนการผลิตแบบเดิม ๆ กล่าวได้ว่า (Disruptive technology) เป็นเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า และสามารถเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ และเศรษฐกิจโลก
 
แม้ว่าสังคมไทยกับสังคมของเกาหลีใต้จะมีความเชื่อ ความศรัทธา รวมถึงวัฒนธรรมการดูดวงที่คล้ายคลึงกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบทางด้านการใช้เทคโนโลยี หรือการเข้ามาของเทคโนโลยีในสมัยปัจจุบัน ยังคงมีความแตกต่างกันอยู่มาก ดังเช่น ธุรกิจดูดวง ที่สามารถเติบโตและขยายธุรกิจได้ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจซบเซา หรือแม้กระทั่งในช่วงเวลาที่ระบบเศรษฐกิจมีการเติบโตดี เนื่องจากมีการปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น เกิดช่องทางการดูดวงที่หลากหลาย มีการดูดวงผ่านเว็บไซต์ แอพพลิเคชันต่างๆ เช่น ไลน์ เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม และโทรศัพท์ดูดวงโดยตรง ไปจนถึงขั้นใช้หุ่นยนต์ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงมาประกอบธุรกิจ
 
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาให้รอบด้านที่เกี่ยวกับการดูดวง เช่น ศาสตร์ของการดูดวง การถ่ายทอดวิชาหลักของการดูดวง การเก็บรวบรวมข้อมูล รูปแบบและวิธีการดูดวง ความเชื่อ ความศรัทธา การแสดงข้อมูลส่วนตัว การเผชิญหน้า/ปฏิสัมพันธ์ และทัศนคติ ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปจากการมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีแบบดั้งเดิม สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมของธุรกิจดูดวงจากแต่ก่อนที่ต้องตั้งโต๊ะดูดวงตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามแหล่งที่มีคนพลุกพล่าน หรือย่านการค้าที่มีผู้คนมารวมตัวกันอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้พฤติกรรมและวิธีการดูดวงนั้นแตกต่างไป เพื่อให้สอดรับและการปรับตัวกับการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นด้วย

 

Disruptive Innovation Theory (ที่มา: ITONICS, 2019)
 
จากภาพประกอบ ได้แสดงให้เห็นถึงทฤษฎีความพลิกผันของนวัตกรรม การปรับตัวเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ สะท้อนให้เห็นว่า ประสิทธิภาพ รวมถึงประสิทธิผลที่จะเกิดขึ้นเมื่อกาลเวลาเปลี่ยน สิ่งต่างๆ เกิดการปรับตัวให้สอดรับกับการเข้ามาของเทคโนโลยี ซึ่งมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากเข้าใจและยอมรับในการปรับตัวของการพลิกผันของเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ การที่เทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีหรือเข้ามาทำลายล้างระบบเดิม จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งประสิทธิภาพและได้รับผลตอบรับอย่างดีเยี่ยม
 
ในกรณีศึกษาธุรกิจดูดวง เห็นได้ชัดว่าแม้จะเกิดกระบวนการที่มีวิวัฒนาการตั้งแต่ประวัติศาสตร์รากเหง้าของการดูดวงมาจนถึงปัจจุบันที่การดูดวงมีรูปแบบวิธีการที่เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก ทั้งทางด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลในเชิงสถิติที่ใช้ในการทำนาย รูปแบบการดูดวงที่แตกต่าง รวมถึงช่องทางในการดูดวงที่หลากหลาย ทั้งยังเกิดความเชื่อ ความศรัทธาที่มากกว่าในอดีต สิ่งเหล่านี้ได้ถูกผนวกเข้ากับเทคโนโลยีได้อย่างลงตัว หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมนั้นๆ ได้อย่างราบรื่น ด้วยธุรกิจยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด ความพลิกผันของเทคโนโลยี ทำให้เกิดโอกาสในการสร้างธุรกิจ และสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาสร้างเป็นกลยุทธ์ให้กับธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง เกิดเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบ กิจกรรม วิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรืองหรือซบเซา ธุรกิจดูดวงยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าบรรดาหมอดูจะเพิ่มราคาค่าบริการ ก็ไม่ทำให้ความต้องการในการดูดวงลดลงแต่อย่างใด โดยความถี่ในการไปดูดวงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 2551) ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำและเข้ามาแทนที่ทุกอย่างทั้งตรรกะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การดูดวงก็ยังเป็นสิ่งที่ทุกคนที่ความสนใจบนพื้นฐานของความเชื่อให้ความสำคัญอยู่เสมอ และมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้น (Reethasri, 2019) โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาหรือกลุ่มเยาวชน ตลอดจนคนที่อยู่ในวัยทำงาน เนื่องจากการใช้บริการดูดวงมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (smeleader, 2019)
 
กรณีศึกษาของธุรกิจดูดวงนั้นสะท้อนให้เห็นว่า แม้ธุรกิจจะมีการดำเนินมาอย่างเนิ่นนานในอดีต ซึ่งสอดรับกับความเชื่อ ความศรัทธา ของคนส่วนมากในกลุ่มอาเซียนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งรูปแบบและกระบวนการของธุรกิจดูดวงที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีการนำเอาทั้งสื่อและเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่มนุษย์ และได้ประสบความสำเร็จอย่างมากในทุกยุคทุกสมัย อุตสาหกรรมทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทสำคัญ แสดงให้เห็นว่าคนจำนวนมากให้ความคาดหวังกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ทุกกิจกรรมดำเนินการด้วยระบบเทคโนโลยี การนำหุ่นยนต์มาใช้ในทางธุรกิจดูดวงแทนหมอดูที่เป็นคนจริงๆ แล้วนั้น หุ่นยนต์ยังสามารถเข้าถึงจิตวิญญาณของผู้บริการดูดวงได้เสมือนกับหมอดูทั่วไปที่เป็นคน อีกทั้งความสามารถมในการตรวจชะตานั้นยังสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ใช้บริการได้เป็นอย่างมาก และถือเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ชัดเจน แม้เทคโนโลยีจะเกิดการพลิกผันเข้ามาแทนที่มนุษย์ในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ แต่เมื่อธุรกิจสามารถสร้างจุดแข็งหรือ กลยุทธ์ โดยผนวกกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แบบผสมผสานระหว่างกันได้อย่างลงตัว จึงทำให้เกิดความสำเร็จต่อธุรกิจดังกล่าว ได้เป็นอย่างดี
 
สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอีกประการหนึ่งก็คือ ผลกระทบทางด้านเทคโนโลยีพลิกผันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกสังคมและทุกคน ตัวอย่างข้อดีที่เห็นได้ชัด ได้แก่ 1) สามารถเข้ามาแทนที่ในงานที่มีลักษณะอันตราย งานเอกสารที่ทำซ้ำจำเจและน่าเบื่อ 2) แม่นยำ ละเอียด ถูกต้องต่องานวิเคราะห์ สำรวจในด้านต่างๆ 3) ฝังตัวในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 4) งานการแพทย์ การเกษตร งานการเงิน และงานเสี่ยงภัย เป็นต้น ข้อด้อยได้แก่ 1) มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูง 2) เกิดการแทนที่แรงงานมนุษย์เกิดโอกาสในการเลิกจ้าง ตกงานสูงในอนาคต 3) ระบบเทคโนโลยีใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความฉลาดมากซึ่งถือเป็นอาวุธทำลายล้างสูง 4) ศีลธรรมคุณธรรมการละเมิด 5) สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบสูง เป็นต้น
 
ดังนั้น จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงเทคโนโลยีพลิกผัน (Disruptive Technology) นี้ได้ ก็ต้องคิดหาวิธีอยู่ร่วมกันและนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาเพิ่มความสะดวกสบาย หรือมูลค่าให้กับธุรกิจ เพื่อสร้างให้เกิดการเติบโตที่เท่าทันเทคโนโลยีเหล่านั้นได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต.
 
 
 
 
 
 
 
 
อ้างอิง:
 
กฤติ ตั้งพรโชติช่วง (2552) กระบวนการตัดสินใจใช้บริการพยากรณ์โหราศาสตร์ของผู้ใช้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร, วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.
 
ณัฐยา น้อยเหลือ (2546) การวิเคราะห์อุปสงค์ของการใช้บริการหมอดูในกรุงเทพมหานคร, วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
 
ภารต ถิ่นคำ. (2553) ประวัติและความเป็นมาของวิชาโหราศาสตร์. เข้าถึงเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562 จาก http://www.astroclassical.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538785203
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 2551. ธุรกิจหมอดูปี'48 : เงินสะพัด 4,000 ล้านบาท. (16 พฤษภาคม 2562). สืบค้นจาก https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/4840.aspx
 
Benjamin Radford, 2013. Fortune-Telling: Fact, Fiction & Fantasy. (May 16, 2016) Retrieved from https://www.livescience.com/28593-fortune-telling.html
 
Crutchfield, R., Ketch S., & Ballanchey E.L. (1996). Individual in society.Tokyo: Kongakusha Con.
 
Cook, Nerida M.,(1989). Astrology in Thailand: the future and recollection of the past. (May 16, 2016) Retrieved from https://openresearch-repository.anu.edu.au/bitstream/1885/10749/5/Cook%20N%20Thesis%201989.pdf
 
Jaroenkitboworn Kandaporn. (2010). A Sutdy of the Expressions for Referring to and Addressing Thai fortunetellers. A Paper presented at the international conference “Personal Identity through a Language Lens”. (November 11, 2016) Retrieved from http://www.culi.chula.ac.th/staff/presentations/Kandaporn/Fortuneteller%20Identity.pdf
 
Korea Economic Daily, 2018. In South Korea fortune-telling will soon be a $3.7bn. business (May 16, 2016) Retrieved from http://english.hankyung.com/
 
manager online, 2007. หมอดูเขมรชะตาขาด..คนไม่เชื่ออีกแล้ว. (24 เมษายน 2562). สืบค้นจาก https://mgronline.com/indochina/detail/9500000134044
 
Napatarachai Reethasri, 2019. จากการดูหมอ สู่โหราศาสตร์ในแอพพลิเคชั่น อะไรทำให้เรายังดูดวง. (3 พฤษภาคม 2562). สืบค้นจาก https://thematter.co/rave/horoscope-today/69980
 
Norman, L.M. (1971). Introduction to Psychology. Boston: Houghton Mifflin Company.
 
Pallas. (2006). วิวัฒนาการ ของ โหราศาสตร์. (14 พฤษภาคม 2562). สืบค้นจาก http://www.horauranian.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=374917&Ntype=2
 
Sinthuwongsri Akkharakit. (2016). perception, addiction and impact of fortune – telling. (May 11, 2016) Retrieved from http://www.cusri.chula.ac.th/?journal=journal-60-01-08
 
Smeleader. (2019). อาชีพหมอดู ก็รวยได้ อยากเป็นหมอดูต้องทำอย่างไร?. (29 เมษายน 2562). สืบค้นจาก https://www.smeleader.com
 
Thai PBS, 2015. หมอดูชื่อดังชี้นายกฯเมืองดาเวา ตัวเต็งผู้นำฟิลิปปินส์คนใหม่. (24 เมษายน 2562). สืบค้นจาก https://news.thaipbs.or.th/content/252202
 
Thongchai Cholsiripong, 2018. กิมจิเสี่ยงทาย! เปิดตลาดหมอดูเกาหลีใต้ ยิ่งใหญ่อลังการ แต่อาจตกงานเพราะหุ่นยนต์. (8 พฤษภาคม 2562). สืบค้นจาก https://brandinside.asia/fortune-telling-in-digital-era/

บทความอื่นๆ ในฉบับ

ฉบับที่ 2 พฤษภาคม - สิงหาคม 2562

ชื่อผู้แต่ง

อัครกิตติ์ สินธุวงศ์ศรี


ประวัติผู้แต่ง

นักวิจัยผู้ช่วย ประจำศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ผลงานท่ีน่าสนใจ

บทความเรื่อง "พฤติกรรมการดูดวงของคนเมือง ในเขตกรุงเทพมหานคร"