สังคม การเมือง วัฒนธรรม ความเคลื่อนไหวเจาะลึกในเอเชีย

English Vinglish ภาษากับที่ทางในสังคมของผู้หญิงอินเดีย:

“เงินตรา ชื่อเสียง และความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษ ทั้ง 3 สิ่งนี้คือปัจจัยที่สังคมใช้ตัดสินคุณค่าของคนในอินเดีย”

English Vinglish เล่าเรื่องราวของชาชิ (Shashi) แม่บ้านชนชั้นกลางธรรมดาๆ ในเมืองปูเน่คนหนึ่งที่มีกิจวัตรดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกทุกคนในครอบครัว ไปพร้อมๆ กับประกอบธุรกิจขนาดย่อมขายขนมลาดู (Ladoo) ที่เธอทำเอง ดูเผินๆ แล้วชาชิค่อนข้างที่ถึงพร้อมไปด้วยทุนทางชีวิตและสังคม ทั้งรูปร่างหน้าตาที่งดงามและความสำเร็จ ขนมของเธอขายดีและเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าทุกคน ครอบครัวของเธอก็อบอุ่นและมั่นคง สมาชิกในบ้านทุกคนต่างก็ต้องพึ่งพาเธอในเกือบทุกเรื่อง “ทุน” ที่เธอพร่องไปนั้นมีอยู่เพียงประการเดียวก็คือความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ
 
ความไม่รู้ภาษาอังกฤษหรือการใช้ภาษาแบบผิดถูกๆ ของชาชิเป็นเหตุให้สามีและลูกๆ ขบขันและล้อเลียนเธออยู่เสมอ ทุกคนปฏิบัติต่อเธออย่างคนที่ด้อยกว่า ฉลาดน้อยกว่า มีความสำคัญน้อยกว่าเพียงเพราะเธอใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร สามีของเธอไม่มีทีท่าจะใส่ใจว่าธุรกิจขายขนมของเธอประสบความสำเร็จเพียงใดหรือว่าวันคืนของเธอมีอะไรน่าตื่นเต้นบ้าง ในขณะที่ลูกสาวของเธอก็สามารถปฏิเสธความเอื้อเฟื้อของเธอที่เสนอจะช่วยสอนการบ้านให้ด้วยคำตอบง่ายๆ ว่า “มันเป็นการบ้านวรรณคดีอังกฤษ” คำพูดและการกระทำที่คนรอบข้างมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยๆ นั้นเป็นเหมือนคมมีดที่กรีดลึกเข้าไปในบาดแผลแห่งความไม่มั่นคงภายในจิตใจของชาชิ และเป็นดั่งโครงสร้างอันหนักอึ้งที่กดทับเธอไว้ให้อยู่ในที่ทางที่คนรอบข้างมองว่าสมควรกับผู้หญิง “บ้านๆ” อย่างเธอ
 
 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 


ชาชิกับเพื่อนๆ ร่วมห้องเรียนของเธอ ที่มา: http://www.hkyantoyan.com/entertainment-news/english-vinglish
 
 
ชาชิก็คงจะต้องถูกจำกัดอยู่ในที่ทางของเธออย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าพี่สาวของเธอที่ย้ายไปทำงานที่นิวยอร์คไม่ได้ขอร้องให้ชาชิต้องเดินทางล่วงหน้าด้วยตัวคนเดียวมายังสหรัฐอเมริกา เพื่อมาช่วยเธอจัดเตรียมงานแต่งงานของหลานสาวของชาชิกับหนุ่มชาวอเมริกัน ชาชิขึ้นเครื่องบินมาอย่างที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษเลยสักตัวเดียว เธอต้องประสบปัญหาในการสื่อสารทั้งกับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและกับเจ้าหน้าที่่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง แต่ก็โชคดีของเธอที่มีเพื่อนผู้โดยสารยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและให้คำแนะนำที่สร้างแรงบันดาลใจ จนทำให้เธอเริ่มมองเห็นว่าความกลัวภาษาอังกฤษของเธอนั้นคือสิ่งที่ฉุดรั้งตัวเธอเอาไว้ ด้วยเหตุนี้ เธอจึงตัดสินใจที่จะลงเรียนวิชาสนทนาภาษาอังกฤษในระหว่าง 4 อาทิตย์ที่เธออาศัยอยู่กับพี่สาวและหลานสาวในนิวยอร์ค
 
ในช่วงเวลากว่า 2 ชั่วโมงของภาพยนตร์ ผู้ชมจะได้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการของชาชิ จากชีวิตของแม่บ้านชาวอินเดียที่ไร้ความมั่นใจและความเคารพนับถือในตัวเอง มาสู่ชีวิตของผู้หญิงที่สามารถใช้ชีวิตบนท้องถนนในมหานครนิวยอร์คและสนทนากับผู้คนหลากภาษาหลากเชื้อชาติได้อย่างไม่ขัดเขิน โครงเรื่องของภาพยนตร์เรื่อง English Vinglish นั้นอาจจะไม่ได้แตกต่างไปจากสูตรสำเร็จของภาพยนตร์แนวการเติบโตและการต่อสู้ของผู้หญิงกับขนบประเพณีที่มีอยู่อย่างดาษดื่น  แต่ด้วยแนวทางการกำกับของเการี ชินเดที่พยายามหลีกเลี่ยงการเค้นอารมณ์ของคนดูด้วยสถานการณ์ “ดราม่า” หนักๆ มาให้ความสำคัญกับรายละเอียดของการเผชิญกับปัญหาเล็กน้อยๆ แต่มีความสำคัญในชีวิตของตัวละครอย่างความยากลำบากในการสั่งกาแฟด้วยภาษาต่างประเทศ ในการใช้บริการขนส่งสาธารณะในเมืองที่ไม่รู้จัก หรือการที่ต้องรับมือกับคำพูดธรรมดาๆ แต่แสนจะทิ่มแทงหัวใจ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเสน่ห์ มีความใกล้ชิดและมีพลังในการสื่อสารกับผู้ชมอย่างน่าประหลาด
 
“ภรรยาก็ผมเกิดมาเพื่อทำลาดู” สาทิศสามีของชาชิเอ่ยขึ้นกับเควินหนุ่มอเมริกันผู้ที่กำลังจะมาเป็นหลานเขยของเธอหลังจากที่ชายหนุ่มได้ลิ้มรสของขนมอันเลิศรสนี้เป็นครั้งแรก ฉับพลันกล้องก็เคลื่อนมาจับภาพใบหน้าของชาชิที่ต้องรับมือคำพูดที่ดูเหมือนจะเป็นคำชมของสามี แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการลดคุณค่าตัวตนของเธอและสิ่งที่เธอทำมาทั้งชีวิต ภาพยนตร์ของเการี ชินเดเรียกร้องให้คนดูย้อนกลับมาพิจารณาการคำพูดและกระทำในชีวิตประจำวันที่เราก็ไม่ได้คิดว่าจะทำร้ายใครแต่กลับมีพลังอำนาจในการกดทับผู้อื่นไว้อย่างร้ายกาจ
 
“คุณนี่เป็นศิลปินแท้ๆ” โรแบรต์พ่อครัวหนุ่มฝรั่งเศสที่แอบหลงรักชาชิเอ่ยกับเธอหลังจากที่ใด้ชิมขนมของเธอ
 
“เวลาที่ผู้ชายทำอาหารสิ มันถึงจะเป็นศิลปะ ส่วนเวลาที่ผู้หญิงทำอาหาร มันก็เป็นแค่หน้าที่” เธอตอบ
 
เช่นเดียวกันกับชาชิ ตัวตนและความสำเร็จในชีวิตของผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านทั่วโลกมักจะถูกมองข้าม ไม่ว่าเธอจะสามารถบริการการเงินหรือความเป็นไปของครอบครัวได้ราบรื่นเพียงใด หรือเธอจะสามารถดำเนินกิจการอุตสาหกรรมในครัวเรือนได้ผลประกอบการแค่ไหน เหล่านี้ เป็นหน้าที่ที่เธอต้องทำในฐานะแม่บ้าน และไม่สามารถเปรียบเทียบอะไรได้กับความสำเร็จของผู้ชายหรือผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้าน อย่างสามีและพี่สาวของเธอ
 
-------------
ผู้หญิงธรรมดาอย่างชาชิสามารถเปลี่ยนแปลงตนเอง ปลดเปลื้องอุปสรรคและโครงสร้างที่กดทับเธอไว้เพื่อหาที่ทางของตัวเองอย่างนุ่มนวลและมีศักดิ์ศรี
-------------
 
ในตอนจบที่เป็นบทสรุปของเรื่อง หลานสาวของชาชิได้ขอให้เธอช่วยกล่าวอวยพรแก่คู่บ่าวสาวต่อหน้าแขกที่มาร่วมงาน ขณะที่เธอทำท่ากำลังจะลุกขึ้น สาทิศสามีของเธอก็รั้งเธอไว้และชิงกล่าวขอโทษต่อแขกเหรื่อแทนเธอโดยให้เหตุผลว่าภาษาอังกฤษของเธอไม่ค่อยดี จะว่าไปแล้วสิ่งที่สาทิศทำไปนั้นก็เพื่อปกป้องเธอด้วยความหวังดี ความผิดพลาดของเขาก็คือเขาทึกทักเอาเองว่าสิ่งนั้นคือความต้องการของชาชิ เขายังคงคิดว่าชาชิยังคงเป็นผู้หญิง “บ้านๆ”  ที่เขาแต่งงานด้วยโดยไม่เคยได้สังเกตความเปลี่ยนแปลงของชาชิหรือความต้องการที่แท้จริงของเธอ
 
ด้วยอากัปกิริยาที่นุ่มนวล ชาชิส่งสัญญาณให้สามีของเธอหยุดพูดแทนเธอ และค่อยๆ ลุกขึ้นกล่าวอวยพรแก่คู่บ่าวสาวเกี่ยวกับความหมายของการเป็นคู่ชีวิตและครอบครัวเป็นภาษาอังกฤษด้วยตัวของเธอเอง ภาษาอังกฤษของเธอแม้จะไม่สมบูรณ์แบบนักแต่ก็ลึกซึ้งและสะกดความรู้สึกของทุกคนที่ได้รับฟัง
 
ในด้านหนึ่งนั้น สิ่งที่ทำให้ English Vinglish เป็นภาพยนตร์ที่น่าจดจำคือ เรื่องราวการตัดสินใจและก้าวเล็กๆ ของผู้หญิงธรรมดาอย่างชาชิในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ในการปลดเปลื้องอุปสรรคและโครงสร้างที่กดทับเธอไว้เพื่อหาที่ทางของตัวเองอย่างนุ่มนวลและมีศักดิ์ศรี ในอีกด้านหนึ่งนั้น  English Vinglish ก็จะได้รับการจดจำในฐานะภาพยนตร์ที่่ช่วยให้ผู้หญิงในวงการภาพยนตร์อินเดียสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตของผู้หญิงธรรมดาๆ โดยผู้กำกับผู้หญิง เพื่อคนดูที่เป็นผู้หญิง หรือข้อจำกัดด้านอายุของนักแสดงนำหญิงที่มักต้องเกษียณอายุหรือรับบทรองเมื่ออายุเกิน 40  ปี  ทั้งนี้ นักแสดงนำที่รับบทชาชิในภาพยนตร์เรื่อง English Vinglish ก็คือ ศรี เทวี (Sri Devi) นักแสดงหญิงยอดนิยมในช่วงคริสตศตวรรษที่ 1970 และ 1980  ที่ได้หยุดแสดงภาพยนตร์ไปกว่า 15 ปี โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำให้ศรี เทวีในวัย 50 ปีกลับมาเป็นดารายอดนิยมอีกครั้ง และเป็นการเบิกทางให้เกิดภาพยนตร์ที่มีนักแสดงหญิงสูงวัยรับบทนำอีกหลายเรื่องตามมา
 
ในข่าวประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่อง English Vinglish เการี ชินเดได้เขียนเอาไว้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นวิธีการที่เธอกล่าวขอโทษและขอบคุณมารดาของเธอ ในขณะเดียวกันก็เป็นการสดุดีผู้หญิงทุกคนในโลก สำหรับทุกคนที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ข้อเขียนดังกล่าวของผู้กำกับภาพยนตร์ก็คงจะไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่เหนือสรรพคุณแต่อย่างใด.
 

บทความอื่นๆ ในฉบับ

ฉบับที่ 1 กันยายน - ธันวาคม 2560

ชื่อผู้แต่ง

จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์


ประวัติผู้แต่ง

Ph.D. (Theatre & Film Studies), University of Exeter ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง


ผลงานท่ีน่าสนใจ

โครงการวิจัยนวัตกรรมสังคมประชาธิปไตย เพื่อการเปลี่ยนผานสูความเปนเมืองที่นาอยูอาศัย และยั่งยืนในอาเซียน