หลังการเยือนซาอุดิอาระเบียของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ถึง 2 สัปดาห์ กลุ่มสมาชิกบางประเทศของ “คณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ” (Gulf Cooperation Council: GCC) รวมถึงอียิปต์ ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญประกาศตัดความสัมพันธ์ทั้งทางการทูต เศรษฐกิจ และความมั่นคงกับกาตาร์ ประเทศที่ตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์มิได้มีเฉพาะซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และอียิปต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศมุสลิมอีกบางประเทศที่ทำตามในตอนหลังอย่างมัลดีฟส์ มอริตาเนีย เยเมน และลิเบีย ซึ่งทั้งหมดคงต้องเรียกรวม ๆ ว่าเป็นการดำเนินการของ “ซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตร”
วิกฤตการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์ครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นครั้งแรก หากแต่มีสัญญาณบอกเหตุมาตั้งแต่ ค.ศ. 2014 เมื่อซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน ได้ปิดสถานเอกอัคราชทูตของตนเองในกรุงโดฮาเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายต่างประเทศของกาตาร์ แต่มาตรการต่อกาตาร์ของซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรในครั้งนี้ก็มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับครั้งก่อน เพราะในครั้งนี้ซาอุดิอาระเบียไม่เพียงแต่ตัดความสัมพันธ์ในทุกด้านดังกล่าว แต่ยังปิดชายแดนทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ โดยห้ามกาตาร์รุกล้ำดินแดน น่านน้ำ และน่านฟ้า นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรในกลุ่ม GCC ยังประกาศให้ประชาชนชาวกาตาร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศตนต้องเดินทางออกภายใน 2 สัปดาห์ และให้ประชาชนของตนเดินทางออกจากกาตาร์ทันที[1]
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นวิกฤตความแตกแยกครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในกลุ่มองค์กรคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ ซึ่งถือเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญยิ่งในโลกอาหรับ เป็นศูนย์กลางการก่อเกิดศาสนาอิสลามของโลกมุสลิม และเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลก
ย้อนมองรากฐานที่มาของวิกฤตการณ์
หากพิจารณาจากแถลงการณ์ที่ออกมาอย่างเป็นทางการ ซาอุดิอาระเบียและชาติอาหรับพันธมิตรอ้างเหตุผลในการตัดความสัมพันธ์ว่า กาตาร์เป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสงครามกลางเมืองซีเรีย ในมุมมองของซาอุดิอาระเบีย นโยบายต่างประเทศของกาตาร์ดังกล่าวได้สร้างความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคทั้งหมด และถือเป็นภัยคุกคามต่อทุกประเทศอาหรับเพื่อนบ้าน[2] แม้กระนั้นก็ตาม สาเหตุที่นำไปสู่วิกฤตการในอ่าวอาหรับครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน ข้ออ้างของซาอุดิอาระเบียเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมเพื่อดำเนินการปิดล้อมกาตาร์เท่านั้น และเหตุผลในการ “ลงโทษ” กาตาร์ของแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน
สำหรับซาอุดิอาระเบีย เหตุผลสำคัญสุดที่ต้องลงโทษกาตาร์ก็เนื่องจากความหวาดระแวงต่อคู่ขัดแย้งของตนเองอย่างประเทศอิหร่านที่นับวันยิ่งแสดงบทบาทขยายอิทธิพลออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะตะวันออกกลางหลังยุคซัดดัม ฮุสเซน (หลัง ค.ศ. 2003)
ด้วยเหตุนี้หนึ่งในนโยบายต่างประเทศซาอุดิอาระเบียที่สำคัญยิ่งในช่วงที่ผ่านมาคือ การโดดเดี่ยวอิหร่าน[3] พร้อมกันนั้น กลุ่มประเทศสมาชิก GCC ทั้งหมดก็มีฉันทามติร่วมกันที่จะขัดขว้างการขยายอิทธิพลและพยายามโดดเดี่ยวอิหร่าน ยกเว้นกาตาร์ที่ต้องดำเนินนโยบายต่ออิหร่านอย่างระมัดระวัง เพราะกาตาร์ต้องร่วมมือกับอิหร่านในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านพลังงานและก๊าซธรรมชาติ อิหร่านในสายตาของกาตาร์จึงถือเป็นประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ประเทศหนึ่ง
ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้น การที่กาตาร์ให้การสนับสนุนขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood: MB) ถือเป็นเรื่องใหญ่สุดจนนำไปสู่การตัดความสัมพันธ์และดำเนินการแซงชั่นต่อกาตาร์[4] เพราะการที่สมาชิกของบวนการ MB จำนวนมากเข้าไปมีบทบาททางการเมืองและเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ในรัฐสภาของทั้งประเทศกาตาร์และคูเวตนับเป็นสัญญาณเตือนที่รูปแบบการเมืองที่เกิดขึ้นใน 2 ประเทศอาหรับเพื่อนบ้านดังกล่าวอาจคืบคลานเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการเมืองเดิมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้
กรณีของอียิปต์อาจมีส่วนคล้ายคลึงกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพราะเป้าหมายเบื้องหลังที่ผลักดันให้อียิปต์ดำเนินมาตรการปิดล้อมกาตาร์คือการกดดันให้กาตาร์หยุดการสนับสนุนขบวนการ MB และกลุ่มฮามาส (HAMAS) ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันของอียิปต์ขึ้นมาสู่อำนาจจากการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การนำของบวนการการ MB ด้วยเหตุนี้ การที่กาตาร์ให้การสนับสนุนขบวนการ MB มาตลอดอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นการท้าทายอำนาจของรัฐบาลทหารอียิปต์ที่ขึ้นมาสู่อำนาจอย่างไม่มีความชอบธรรม
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวอัล-ญาซีเราะฮ์ (Al-Jazeera) ถือเป็นสื่อสำคัญที่มีบทบาทอย่างสูงในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกอาหรับในช่วงที่เกิดกระแสอาหรับสปริง (Arab Spring) และเป็นสื่อที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอียิปต์อย่างต่อเนื่องตรงไปตรงมา โดยรัฐบาลทหารอียิปต์เองก็มองว่าสำนักข่าวอัล-ญาซีเราะฮ์คือตัวแทนของรัฐบาลกาตาร์
ปัจจัยเรื่องสำนักข่าวอัล-ญาซีเราะฮ์ถือเป็นความท้าทายร่วมของกลุ่มประเทศพันธมิตรอาหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพราะสำหรับประเทศอย่างซาอุดิอาระเบียและอียิปต์ซึ่งมีความไผ่ฝันต้องการเป็นประเทศผู้นำที่ได้รับการยอมรับจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างถ้วนทั่ว การทำงานของสื่ออย่างอัล-ญาซีเราะฮ์ถือเป็นอุปสรรคขัดขว้างที่สำคัญยิ่ง เพราะอัล-ญาซีเราะฮ์คือสื่อที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลกอาหรับหรือแม้แต่ในหมู่ชาวอาหรับโพ้นทะเล
อัล-ญาซีเราะห์ได้รายงานสถานการณ์การปราปรามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสมาชิกขบวนการภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์หลังรัฐประหาร รายงานแง่มุมด้านมนุษยธรรมอันเป็นผลกระทบจากการปิดล้อมดินแดนชนวนกาซ่าของอิสราเอล และรายงานความสูญเสียอันเกิดจากการถล่มโจมตีทางอากาศของซาอุดิอาระเบียในสงครามเยเมน
ด้วยเหตุนี้ อัล-ญาซีเราะฮ์จึงถือเป็นขวากหนามสำคัญที่ขัดขว้างไม่ให้ผู้นำอาหรับชาติใหญ่ ๆ ได้รับความนิยมจากประชาชนคนอาหรับส่วนใหญ่ แม้ว่าประเทศซาอุดิอาระเบียและอียิปต์จะมีอำนาจทางการทหารเพียงใดในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่จากบทบาทของสำนักข่าวอัลญาซีเราะฮ์ ทั้ง 2 ประเทศนี้ก็ไม่สามารถแผ่อำนาจครอบงำทางการเมืองที่ตนเองต้องการได้ นี่จึงเป็นที่มาของการที่ซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรตั้งเป็นเงื่อนไขลำดับแรก ๆ ให้กาตาร์ปิดสำนักข่าวอัลญาซีเราะฮ์เพื่อแลกกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ผลกระทบทางตรงจากมาตรการปิดล้อมกาตาร์
หากวัดจากรายได้ประชาชาติ ค.ศ. 2015 กาตาร์ถือเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก รายได้ประชากรต่อหัวต่อปีของประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากร 2.1 ล้านคนนี้ อยู่ที่ 143,532 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว ๆ 4,736,000 บาท[5] ทั้งนี้กาตาร์เป็นประเทศที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ที่ส่งออกทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติป้อนตลาดพลังงานของโลก ความร่ำรวยของกาตาร์เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้นำประเทศไม่ค่อยหวั่นไหวต่อมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพราะคงไม่กระทบต่อแรงสนับสนุนของประชาชนที่มีต่อการปกครองของราชวงศ์อัล-ษานีของกาตาร์แต่อย่างใด ขณะเดียวกัน โอกาสที่จะเกิดการปฏิวัติโค่นสถาบันกษัตริย์ทั้งจากกลุ่มก้อนภายในหรือตัวแสดงจากภายนอกก็ดูจะเป็นไปได้น้อยมาก
ยิ่งกว่านั้น การส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของกาตาร์ก็ใช้เส้นทางทางทะเลเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผ่านชายฝั่งประเทศอิหร่านและโอมาน ซึ่งมิได้มีปัญหาความสัมพันธ์กับกาตาร์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ประเด็นความท้าทายของกาตาร์อยู่ที่การหาท่าเรือแห่งใหม่ที่จะใช้เติมเชื้อเพลิงให้แก่เรือขนส่งสินค้า เพราะที่ผ่านมากาตาร์ได้ใช้ท่าเรือในเมืองฟูไจราห์ (Fujairah) ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นหลัก เพราะท่าเรือแห่งนี้ถือเป็นศูนย์กลางท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง มาบัดนี้กาตาร์คงไม่สามารถใช้ท่าเรือแห่งนี้เพื่อเติมเชื้อเพลิงได้อีกต่อไป ทางออกของกาตาร์จึงต้องหาท่าเรือแห่งใหม่ ๆ ทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลางและนอกภูมิภาค ขณะเดียวกัน ตราบใดที่คลองสุเอซยังเปิดให้กาตาร์เดินเรือ ผลกระทบที่เกิดกับเศรษฐกิจกาตาร์ก็คงจะมีไม่มากนัก
ในอีกด้านหนึ่ง กาตาร์ก็เป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซธรรมชาติผ่านท่อส่งก๊าซจำนวน 3.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันป้อนให้ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมาน หากว่ากาตาร์ตัดสินใจปิดท่อส่งก๊าซดังกล่าวตอบโต้มาตรการปิดล้อม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็อาจตกอยู่ในภาวะขาดแคลนพลังงานที่จะนำมาผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่มีอัตราการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ขณะที่โอมานซึ่งเป็นประเทศที่ไม่พอใจการครอบงำของซาอุดิอาระเบียเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจกล่าวโทษซาอุดิอาระเบียว่าเป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาวะขาดแคลนไฟฟ้าใช้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาท้าทายหลักของกาตาร์คือการนำเข้าสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน ที่ผ่านมากาตาร์นำเข้าสินค้าอาหารจากชายแดนประเทศซาอุดิอาระเบียคิดเป็นร้อยละ 40 ของสินค้าอาหารทั้งหมด[6] หลังการตัดความสัมพันธ์ไม่นาน ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ประกาศยกเลิกส่งออกน้ำตาลให้กาตาร์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการบริโภคสูงมากในช่วงเดือนรอมฏอน หรือเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ยิ่งกว่านั้นสินค้านำเข้าทางทะเลของกาตาร์จำนวนมากก็ต้องแวะเปลี่ยนถ่ายสินค้าลงเรือที่ท่าเรือ ญะบัล อาลี (Jebel Ali Port) ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใกล้นครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อย่างไรก็ตาม อิหร่านได้ยื่นข้อเสนอให้กาตาร์ใช้ท่าเรือของอิหร่านในการขนส่งสินค้าแทน แต่การทำข้อตกลงกับอิหร่านก็อาจทำให้ฝ่ายซาอุดิอาระเบียมีมาตรการลงโทษที่เข้มข้นขึ้นต่อกาตาร์
ในอีกด้านหนึ่ง การประกาศตัดความสัมพันธ์ต่อกาตาร์ก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบิน ผลกระทบจากการตัดความสัมพันธ์ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่กระทบต่อสายการบินแห่งชาติของกาตาร์เท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อสายการบินเอมิเรตส์ สายการบินฟลายดูไบ และสายการบินเอทิฮัด ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย อย่างไรก็ตาม
แม้ผลกระทบระยะยาวจากวิกฤตความสัมพันธ์บนคาบสมุทรอาหรับยังคงไม่สามารถประเมินได้ แต่ที่แน่ ๆ คือ สายบินกาตาร์ แอร์เวย์ ต้องเปลี่ยนเส้นทางบินเพื่อหลีกเลี่ยงการบินผ่านน่านฟ้าของซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งการเปลี่ยนเส้นทางบินทำให้แต่ละเที่ยวบินต้องบินในระยะทางที่ไกลขึ้น และต้องใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการบินต่อเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น[7]
ตะวันออกกลางหลังวิกฤตกาตาร์
พัฒนาการความคืบหน้าจากวิกฤตกาตาร์ล่าสุดคือการที่ซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรได้ยื่นเงื่อนไข 13 ข้อเพื่อยกเลิกการคว่ำบาตรต่อกาตาร์ อันประกอบไปด้วย การตัดความสัมพันธ์กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ปฏิเสธการโอนสัญชาติพลเรือนจากทั้ง 4 ประเทศ เนรเทศพลเรือนของพวกเขาที่อยู่ในกาตาร์ทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้กาตาร์เข้าแทรกแซงกิจการภายใน ให้กาตาร์ส่งมอบตัวผู้ที่พวกเขากำลังต้องการตัวในฐานะผู้ก่อการร้าย มอบข้อมูลฝ่ายค้านที่กาตาร์ให้การสนับสนุนในซาอุดิอาระเบีย และชาติอื่นๆ ปรับนโยบายเศรษฐกิจให้เป็นไปในทางเดียวกันกับกลุ่มความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) หยุดให้เงินทุนสนับสนุนสำนักข่าว อัล-ญาซีเราะฮ์ (รวมถึง อาราบี 21 และ มิดเดิลอีสต์ อาย) จ่ายเงินชดเชยที่ไม่มีการเปิดเผยจำนวน ตัดความสัมพันธ์กับกลุ่มก่อการร้าย เช่น ไอเอส อัล-กออิดะฮ์ และฮิซบุลลอฮ์ รวมทั้งตัดการติดต่อทางการทูตกับอิหร่าน ขับสมาชิกกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่านออกจากประเทศ และค้าขายกับอิหร่านตามกรอบการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของกาตาร์ ออกมาแสดงความไม่ยอมรับในเงื่อนไขทั้ง 13 ข้อ โดยให้เหตุผลว่า เงื่อนไขทั้ง 13 ข้อ ไม่สมเหตุสมผล และไม่สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ นั่นหมายความว่า กาตาร์จะไม่เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของตนเอง และพร้อมที่จะรับมือกับมาตรการคว่ำบาตรของซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตร หากเป็นเช่นนี้กาตาร์ก็คงต้องเพิ่งพาอิหร่านมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องข้อเสนอของอิหร่านที่ให้กาตาร์ใช้ท่าเรือ และการนำเข้าสินค้าและอาหาร ตลอดจนการใช้น่านฟ้าสำหรับสายการบินแห่งชาติกาตาร์ ขณะเดียวกัน กาตาร์ก็คงต้องเพิ่งพาตุรกีมากขึ้นในด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นประเทศที่กาตาร์มีความใกล้ชิดสนิทสนมและมีความร่วมมือกันในหลาย ๆ ด้านมาก่อนหน้านี้แล้ว ขณะเดียวกันกาตาร์ก็ต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อไปกับสหรัฐฯ และแสวงหาความร่วมมือใหม่ ๆ กับรัสเซียและจีน
ความจริงยุทธศาสตร์ของกาตาร์นับจากนี้ต่อไปคือ (หากไม่สามารถฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตร) หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและมองหาหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เป็นประเทศใหม่ ๆ เพื่อลดผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตร
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดวิกฤตบนดินแดนคาบสมุทรอาหรับครั้งนี้ดูเหมือนสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสค่อนข้างระมัดระวัง โดยไม่ยอมแสดงตนยืนอยู่ข้างกาตาร์มากนัก ในทางกลับกัน ประเทศเหล่านี้กลับเลือกที่จะวางเฉยอันอาจแปลความหมายได้อีกอย่างว่าเป็นการเปิดไฟเขียวให้ฝ่ายซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตร แต่ประเทศที่แสดงท่าทีชัดเจนในการยืนเคียงข้างกาตาร์คือมหาอำนาจในตะวันออกกลางทั้งตุรกีและอิหร่าน โดยเฉพาะตุรกีที่แสดงตนชัดเจนในการปกป้องกาตาร์
สิ่งที่เกิดตามมาคือการเสริมพลังความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างตุรกีกับกาตาร์ ซึ่งจะทำให้ผลที่เกิดจากวิกฤติกาตาร์ครั้งนี้เป็นไปอีกแบบอย่างที่เรียกได้ว่าเหนือความคาดหมายของซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรที่ต้องการบีบให้กาตาร์ยอมจำนน นั่นหมายความว่า จากเป้าหมายที่จะโดดเดี่ยวและบีบให้กาตาร์ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ แต่ผลจากเหตุการณ์นี้อาจทำให้เกิดขั้วอำนาจใหม่ขึ้นในตะวันออกกลางที่เป็นการรวมพลังระหว่างมหาอำนาจขนาดกลางอย่างตุรกีกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างกาตาร์ เป็นขั้วอำนาจที่ผงาดขึ้นมาท้าทายนโยบายต่างประเทศของซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรในอนาคตอันใกล้นี้.
[1] Wintour, Patrick (5 June 2017). "Gulf plunged into diplomatic crisis as countries cut ties with Qatar". The Guardian. Available at https://www.theguardian.com/world/2017/jun/05/saudi-arabia-and-bahrain-break-diplomatic-ties-with-qatar-over-terrorism.
[2] Associated Press (5 June 2017). "Saudi Arabia Accuses Qatar of Backing Terrorism, Cuts Ties". NBCnews.com.
[3] ดูรายละเอียดประเด็นนี้ได้ใน Trofimov, Yaroslav (8 June 2017). "Qatar Crisis Turns Into Proxy Battle of Mideast Rivals". www.wsj.com.
[4] Islam Hassan (31 March 2015). "GCC's 2014 Crisis: Causes, Issues and Solutions". Al Jazeera Research Center. Available at https://www.academia.edu/12696782/GCCs_2014_Crisis_Causes_Issues_and_Solutions
[5] “อาหรับ "คว่ำบาตร" กาตาร์ เศรษฐกิจระส่ำ-เศรษฐีโยกเงินหนี”.(10 มิถุนายน, 2560). ประชาชาติธุรกิจ. www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1497104657
[6] ดูข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นนี้ได้ใน Taylor, Adam. "Analysis | Qatar could face a food crisis in spat with Arab neighbors". Washington Post.
[7] ดูผลกระทบเรื่องนี้ได้ใน "Qatar diplomatic crisis: How it affects air travel". Al Jazeera. 5 June 2017.