สังคม การเมือง วัฒนธรรม ความเคลื่อนไหวเจาะลึกในเอเชีย

ใครไป ใครมา ทำงานอะไร อยู่ที่ไหนในภูมิภาคเอเชีย:

ใน พ.ศ. 2560 ประชากรในเอเชียมีจำนวน 4.47 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 63 หรือเกือบสองในสามของประชากรทั้งโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 68 หรือ 4.77 พันล้านคน ใน พ.ศ. 2568

ใน พ.ศ. 2560 ประชากรในเอเชียมีจำนวน 4.47 พันล้านคน  คิดเป็นร้อยละ 63 หรือเกือบสองในสามของประชากรทั้งโลก  และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 68 หรือ 4.77 พันล้านคน ใน พ.ศ. 2568 (World Population Review, 2016)  ร้อยละ 43 (104 ล้านคน)ของผู้ย้ายถิ่นทั่วโลก (243.7 ล้านคน) เกิดในภูมิภาคเอเชีย ในทางตรงกันข้าม ภูมิภาคเอเชียเองก็มีผู้ย้ายถิ่นหรือคนที่ไม่ได้เกิดในประเทศตนเองอยู่ถึง 75 ล้านคน ใกล้เคียงกับจำนวนผู้ย้ายถิ่น 76 ล้านคนในยุโรป  จำนวนผู้ย้ายถิ่นในเอเชียและยุโรปรวมกันเท่ากับ 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ย้ายถิ่นทุกภูมิภาค (แผนภูมิที่ 1) กลุ่มอายุผู้ย้ายถิ่นทั่วโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสัดส่วนร้อยละ 2.8 ของประชากรท้องถิ่นใน พ.ศ. 2543  เพิ่มเป็นร้อยละ 3.3 ใน พ.ศ. 2558 (United Nations, Department of Economic and Social Affairs (a)).

จากสถิติข้างต้น แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ย้ายถิ่นทุกภูมิภาคมีจำนวนเพิ่มขึ้น และภูมิภาคเอเชียมีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของผู้ย้ายถิ่นสูงที่สุด

ในภาพรวมของผู้ย้ายถิ่นทั่วโลก 10 อันดับสูงสุดของผู้ย้ายถิ่นที่ไปอยู่ต่างประเทศ เป็นผู้ย้ายถิ่นจากประเทศเอเชีย 6 ประเทศ คือ อินเดีย สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน บังคลาเทศ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์  และใน 20 อันดับสูงสุด เป็นผู้ย้ายถิ่นจากประเทศในเอเชีย 11 ประเทศ 

สถิติ พ.ศ. 2558 ชี้ว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีคนย้ายถิ่นไปต่างประเทศมากที่สุดคืออินเดีย (15,575,724 คน) รองลงมาคือสหพันธรัฐรัสเซีย(10,576,766 คน)  สาธารณรัฐประชาชนจีน (9,546,065 คน) บังคลาเทศ (7,205,410 คน) ปากีสถาน (5,935,193 คน) ฟิลิปปินส์ (5,316,320 คน) อัฟกานิสถาน(4,843,117 คน) อินโดนีเซีย (3,876,739 คน) เมียนมาร์ (2,881,797 คน) เวียดนาม (2,558,678 คน) เกาหลี (2,345,840 คน) ฯลฯ (United Nations, Department of Economic and Social Affairs (b))

การย้ายถิ่นจากภูมิภาคเอเชีย มีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งกลุ่มผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นที่ถูกสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศผลักดันให้ต้องอพยพออกจากประเทศของตน กลุ่มเคลื่อนย้ายระยะสั้นเพื่อการศึกษา กลุ่มย้ายถิ่นเพื่อตั้งถิ่นฐานเพื่อการแต่งงาน การอยู่ร่วมกับครอบครัว และกลุ่มที่ย้ายถิ่นด้วย เหตุผลทางด้านเศรษฐกิจหรือแรงงานย้ายถิ่นซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด   จากสถิติชี้ว่า มากกว่าสองในสามหรือร้อยละ 72.8 ของจำนวนผู้ย้ายถิ่นจากเอเชีย อยู่ในวัยแรงงาน (20-64 ปี)  โดยร้อยละ 81.2 มาจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (United Nations, 2015)

มากกว่า 2 ใน 3 ของแรงงานย้ายถิ่นหรือร้อยละ 74.7 ทำงานในกลุ่มประเทศรายได้สูง (High income) ร้อยละ 11.7 ทำงานในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง (Upper middle income) ร้อยละ 11.3 ทำงานในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขั้นต่ำ (Lower middle income) และร้อยละ 2.4 ทำงานในกลุ่มประเทศรายได้น้อย (Low income) โดยกระจายการทำงานอยู่ในภาคการผลิตต่างๆ สูงสุด 2 ใน 3 ร้อยละ 63.4 อยู่ในภาคบริการ ร้อยละ 17.8 อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 11.1 อยู่ในภาคเกษตร ร้อยละ 7.7 อยู่ในงานรับใช้ในบ้าน (แผนภูมิที่ 3) (United Nations, Department of Economic and Social Affairs, Population Division(c), 2015)

รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าใน พ.ศ. 2556  ร้อยละ 24.7 ของแรงงานย้ายถิ่นทำงานอยู่ในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกา แคนาดา)  ร้อยละ 23.8 ทำงานอยู่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป(ยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออก ยุโรปตอนเหนือ) ทั้ง 2 ภูมิภาคนี้จึงมีแรงงานย้ายถิ่นทำงานอยู่เกือบครึ่งหนึ่ง(ร้อยละ 48.5) ของแรงงานย้ายถิ่นทั่วโลก รองลงมาคือกลุ่มประเทศ กลุ่มประเทศเอเชียและแปซิฟิค มีแรงงานย้ายถิ่นทำงานอยู่ร้อยละ 17.2 ของแรงงานย้ายถิ่นทั่วโลก  และ 1 ใน 3 (ร้อยละ 35.6) หรือร้อยละ 11.7 ของแรงงานย้ายถิ่นทั่วโลก ทำงานอยู่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเอเชีย (ILO, 2015)

ถึงแม้แรงงานจากเอเชียออกไปทำงานทั่วโลก แต่แรงงานย้ายถิ่นจากเอเชียเป็นแรงงานที่มีทักษะหลายระดับ  โดยกลุ่มที่มีการศึกษาสูง หรือแรงงานมีทักษะสูงมักไปทำงานนอกภูมิภาคเอเชียหรือในประเทศซีกโลกเหนือ เช่น สหภาพยุโรป อเมริกาเหนือ  และประเทศในเอเชียที่มีระดับเศรษฐกิจดี เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี  รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (มีสมาชิกคือประเทศในภูมิภาคยุโรป 34 ประเทศ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี) ระบุว่าผู้ย้ายถิ่นวัยแรงงานจากเอเชียในประเทศสมาชิก เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า นับจากกลางศตวรรษที่ 20   นอกจากนี้เมื่อพิจารณาระดับการศึกษา พบว่าแรงงานย้ายถิ่นจากเอเชียมีภูมิหลังด้านการศึกษาสูงกว่าแรงงานย้ายถิ่นจากภูมิภาคอื่น หรือแม้แต่แรงงานท้องถิ่นในประเทศสมาชิกบางประเทศ  และกลุ่มแรงงานมีฝีมือ(Skilled migrant) ส่วนใหญ่ก็มาจากภูมิภาคเอเชีย สถานการณ์นี้อาจมีผลมาจากนโยบายของประเทศปลายทางหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ที่กำหนดคุณสมบัติด้านทักษะแรงงานย้ายถิ่นที่เข้าไปทำงาน หรือสหรัฐอเมริกาใช้นโยบายคัดเลือกแรงงานจากนักศึกษาต่างชาติที่เข้าไปเรียนและจบการศึกษาในประเทศ อินเดีย  ในยุโรปบางประเทศที่ไม่มีนโยบายกำหนดคุณสมบัติของแรงงานย้ายถิ่น เช่น อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ก็จะดึงดูดแรงงานที่มีการศึกษาน้อยเข้าไปทำงานมากกว่า  เช่น แรงงานอินโดนีเซียในเนเธอร์แลนด์ที่มีการศึกษาสูง  มีไม่ถึงร้อยละ30 เปรียบเทียบกับแคนาดาและสหรัฐอเมริกาที่มีมากกว่าร้อยละ 50  (Organization for Economic Co-operation and Development-OECD, 2012)  สอดคล้องกับการศึกษาของ Arslan, C. และคณะ (2014)  ที่ชี้ว่าในจำนวนแรงงานย้ายถิ่นในกลุ่มประเทศสมาชิก  OECD  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11 ของประชากรท้องถิ่น  เป็นแรงงานที่มีการศึกษาสูงจำนวน 35 ล้านคน เฉพาะที่จบอุดมศึกษามีถึงร้อยละ 79 ในกลุ่มแรงงานจากเอเชีย ใกล้เคียงกับร้อยละ 80 ในกลุ่มจากอัฟริกา และร้อยละ 84 จากละตินอเมริกา   ประมาณร้อยละ 20 ของแรงงานย้ายถิ่นจากเอเชียที่จบอุดมศึกษาเป็นแรงงานจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ฟิลิปปินส์ และอินเดีย นอกจากนี้ 1 ใน 3 ของแรงงานที่มีทักษะสูง(highly skilled migrant) ก็มาจากเอเชีย  และร้อยละ 20 ในจำนวนนี้มาจากประเทศอินเดีย 

ในด้านกลับกัน แรงงานย้ายถิ่นที่ทำงานในภูมิภาคเอเชียกลับเป็นแรงงานทักษะต่ำหรือแรงงานไร้ทักษะ  ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากเอเชียที่ออกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศใกล้เคียงที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจดี หากพิจารณาจากสถิติการเคลื่อนย้ายของคนจากประเทศต่างๆ พบว่าส่วนใหญ่ของแรงงานจากเอเชีย เช่น ร้อยละ 94 จากผู้ย้ายถิ่นจากเมียนมาร์  ร้อยละ 90 จากบังคลาเทศ ร้อยละ 79 จากมาเลเซีย ร้อยละ 79 จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร้อยละ76 จากปากีสถาน  ร้อยละ 71 จากอินเดีย ร้อยละ 70 จากกัมพูชา ทำงานในภูมิภาคเอเชีย มีบางประเทศ เช่น จีน ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ ที่มีสัดส่วนการไปทำงานนอกภูมิภาคสูงกว่าการทำงานในเอเชีย (แผนภูมิที่ 4)

 

ในภาพรวม แรงงานย้ายถิ่นหญิงและแรงงานย้ายถิ่นชายมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่เมื่อพิจารณาในรายประเทศมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทงาน เช่น แรงงานย้ายถิ่นที่ทำงานรับใช้ในบ้าน ผู้ดูแล และงานภาคบริการ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ขณะที่แรงงานย้ายถิ่นในภาคการก่อสร้าง เกษตรกรรม เป็นแรงงานเพศชาย  ตัวอย่างเช่นร้อยละ แรงงานย้ายถิ่นจากฟิลิปปินส์ร้อยละ 61 เป็นเพศหญิง ไปทำงานในสาขาพยาบาลและการดูแล ร้อยละ 75 ของแรงงานหญิงอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่ทำงานรับใช้ในบ้าน ขณะที่แรงงานจากเอเชียใต้ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย เช่น ร้อยละ 61 ของแรงงานเนปาล  ร้อยละ 56 ของแรงงานบังคลาเทศ  ร้อยละ 56 แรงงานปากีสถาน  ร้อยละ 56 ของแรงงานอินเดีย ไปทำงานในสาขาก่อสร้าง เกษตรกรรม (OECD, 2012)  สาเหตุหนึ่งมาจากปัจจัยด้านวัฒนธรรมที่ไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงไปทำงานต่างประเทศ แต่เมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการนี้ ทำให้สัดส่วนแรงงานเพศหญิงจากประเทศในเอเชียใต้ไปทำงานต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น แรงงานหญิงจากบังคลาเทศเพิ่มจากร้อยละ 2.3 ใน พ.ศ. 2550 เป็นร้อยละ 13.8 ใน พ.ศ. 2556 (International Federation of Red Cross and Red Crescent Society, 2015)

บางประเทศพยายามหามาตรการป้องกันแรงงานจากประเทศของตนจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ เช่น  ศรีลังกา ไม่มีนโยบายห้ามแรงงานหญิงไปทำงานต่างประเทศ  แต่ได้กำหนดมาตรการหลายอย่างเพื่อลดจำนวนแรงงานหญิงไร้ทักษะที่ไปทำงานในต่างประเทศ   เช่น แรงงานหญิงที่ไปทำงานรับใช้ในบ้าน และส่งเสริมการไปทำงานต่างประเทศของแรงงานมีทักษะมากขึ้น  ทำให้สัดส่วนแรงงานหญิงไปทำงานบ้านจากศรีลังกาใน พ.ศ. 2555 ลดลงเหลือร้อยละ 49  จากสัดส่วนร้อยละ 53 ใน พ.ศ. 2550 เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่พยายามลดจำนวนแรงงานหญิงไปทำงานบ้านในตะวันออกกลางลง แม้ว่าแรงงานย้ายถิ่นอินโดนีเซียยังมีสัดส่วนแรงงานหญิงที่สูงมากก็ตาม  

สำหรับประเทศไทย  แรงงานย้ายถิ่นที่เข้ามาทำงาน  ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 เป็นแรงงานไร้ทักษะที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า กัมพูชา ลาว ทำงานในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ก่อสร้าง ฯลฯ ส่วนแรงงานมีทักษะมีทั้งมาจากในภูมิภาคเอเชียและนอกภูมิภาค จำนวนสูงสุดคือญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน  ฟิลิปปินส์ เข้ามาทำงานด้านการจัดการ การบริหาร การศึกษา การค้า ฯลฯ  ส่วนหนึ่งเข้ามาตามนโยบายการลงทุน 

ส่วนแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ทำงานเป็นแรงงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร งานเกษตรและประมง ช่างฝีมือในภาคธุรกิจ ฯลฯ โดยร้อยละ 67 ทำงานในภูมิภาคเอเชีย ร้อยละ 17 ทำงานในประเทศตะวันออกกลาง และร้อยละ 9 ทำงานในภูมิภาคยุโรป (กระทรวงแรงงาน, 2558)

สรุป หากพิจารณาจากข้อมูลข้างต้น  แรงงานจากภูมิภาคเอเชียที่ไปทำงานในภูมิภาคอื่น มีทั้งแรงงานมีทักษะ กึ่งทักษะ และไร้ทักษะ แม้มีส่วนหนึ่งเป็นแรงงานมีทักษะ มีการศึกษาดีที่ไปทำงานในประเทศพัฒนาแล้วนอกภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศเอเชียบางประเทศที่มีรายได้สูง แต่แรงงานจากเอเชียที่ไปทำงานนอกประเทศตนเอง  ส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานไร้ทักษะ โดยทำงานอยู่ในภูมิภาคเอเชียในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมากที่สุด แนวโน้มสถานการณ์ไปทำงานต่างประเทศของแรงงานจากเอเชียคงยังดำเนินต่อไป หากการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศต้นทางและรายได้ในประเทศยังไม่สูงพอที่จะดึงดูดให้แรงงานทำงานในประเทศต้นทางได้.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงแรงงาน, กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ. 2558. สรุปสถานกาณ์การไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทย ประจำปี 2557. เข้าถึงเมื่อ 10 เมษายน 2560 จากhttps://www.doe.go.th/prd/  overseas/knowledge/param/site/149/cat/97/sub/0/pull/category/view/cover-view.

Arslan, C. et al. (2014), “A New Profile of Migrants in the Aftermath of the Recent Economic Crisis”, OECD Social, Employment and Migration Working Papers, No. 160, OECD Publishing. http://dx.doi.org/10.1787/5jxt2t3nnjr5-en

Asia-Pacific RCM Thematic Working Group on International Migration. Asia Pacific Migration Report 2015: Migrants’ Contributions to Development. (ILO, 2015, http://ilo.org/global/topics/labour-migration/publications/WCMS_436343/lang--en/index.htm.

International Federation of Red Cross and Red Crescent Society. 2015. Statistics on Labour Migration within Pacific-Asia. Red Cross Red Crescent Manila Conference on Labour Migration 2015, Manila, Philippines. Retrieve May 30, 2017 from http://www.ifrc.org/Global/Documents/Asia-pacific/201505/Map_Infographic.pdf.  

International Labour Organization. ILO Global estimates on migrant workers. Results and  Methodology, 2015. Retrieved May 20th, 2017 from http://ilo.org/wcmsp5/groups/public/---dgreports/--- dcomm/documents/publication/wcms_436330.pdf.

Organisation for Economic Co-operation and Development. International Migration Outlook. 2012. The changing role of Asia in international migration. OECD Working Papers on Migration, 2012. Retrieve May 27, 2017 from http://www.oecd.org/els/mig/PartIII_Asia.pdf.

United Nations, Department of Economic and Social Affairs, Population Division, 2015 (a). Migration Wall Chart 2015. Retrieved May 20th, 2017 from http://www.un.org/en/development/desa/population/migration/publications/wallchart/docs/MigrationWallChart2015.pdf.

United Nations, Department of Economic and Social Affairs, Population Division, 2015(b). Trends in International Migrant Stock: Migrant by Destination and Origin. Retrieved May 20th, 2017 from http://www.un.org/en/development/desa/population/ migration/data/estimates2/stimate15.shtml.

United Nations, Department of Economic and Social Affairs, Population Division, 2015(c). Population Facts No. 2015/4, December 2015.

World Population Review. Asia Population. (2016, August 06). Retrieved May 27th, 2017, from http://worldpopulationreview.com/continents/asia-population/.

บทความอื่นๆ ในฉบับ

ฉบับที่ 1 กันยายน - ธันวาคม 2560

ชื่อผู้แต่ง

เปรมใจ วังศิริไพศาล


ประวัติผู้แต่ง

เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมสาธารณสุข,การย้ายถิ่นและสุขภาพ, เด็กต่างชาติ, แรงงานต่างชาติ, ผู้ลี้ภัย, ผู้สูงอาย


ผลงานท่ีน่าสนใจ