จราจร จลาจล: กับทางเลือกของคนนครโฮจิมินห์ :
สภาพพื้นผิวและภายใต้การจราจรที่สะท้อนปัญหาร่วมของภูมิภาค
หากท่านใดเคยไปเยี่ยมเยือนมหานครโฮจิมินห์ของเวียดนาม คงได้พบเห็นการจราจรที่คับคั่งในตัวเมือง บนถนนที่เต็มไปด้วยยวดยานตั้งแต่ 2 ไปจนถึง 8 ล้อขับเคลื่อนเมืองกันขวักไขว่ โดยเฉพาะจักรยานยนต์นั้นถือเป็นการเดินทางที่นิยมของคนเวียดนามเป็นพิเศษ ถึงกับได้รับฉายานามว่า “นครจักรยานยนต์ของโลก”1 ซึ่งในปีที่ผ่านมา (2561) ทำยอดขายในประเทศมากถึง 3.4 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ทุบสถิติเดิมเมื่อปี 2554 ที่เคยทำไว้ 3.3 ล้านคัน
จากการจัดอับดับตลาดรถจักรยานยนต์ทั่วโลกโดย Motor Cycles Data ในปี 2561 เวียดนามเป็นตลาดจักรยานยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกรองจาก อินเดีย (21.5 ล้านคัน) จีน (15.5 ล้านคัน) และอินโดนีเซีย (6.4 ล้านคัน) ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 6 มียอดจำหน่ายเพียง 1.78 ล้านคัน ลดลงร้อยละ 1.22
เนื่องจากมีจำนวนจักรยานยนต์มากเช่นนี้ การจอดรถจักรยานยนต์บนทางเท้าริมถนนจึงเป็นเรื่องทั่วไปในนครโฮจิมินห์ เมื่อต้องจอดบนทางเท้า การขับขี่ขึ้นบนทางเท้าจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ในชั่วโมงที่การจราจรคับคั่งผู้ขับขี่ก็มักใช้ทางเท้าเป็นช่องการเสริมเพื่อลดความแออัดบนพื้นถนนด้วย ผู้เดินบนทางเท้าจึงต้องคอยระวังรถจักรยานยนต์จากด้านหลังหรือสวนมาด้านหน้าที่ใช้เส้นทางร่วมกัน
.
สีสัน - จราจร
เสน่ห์ของการจราจรในเวียดนาม นอกจากจะเป็นภาพการจราจรที่คับคั่งบนถนนแล้วทักษะของผู้ขับขี่จักรยานยนต์ก็เป็นสิ่งที่น่าตื่นตาไม่แพ้กัน แม้ปริมาณรถจะมากมายแต่จากการลงพื้นที่ของผู้เขียน สังเกตได้ว่าผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เวียดนามมีทักษะสูงและมีความตื่นตัว สามารถตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
สิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจะต้องทำเป็นแบบทดสอบก็คือ “การข้ามถนน” ในเวียดนามให้ได้ ครั้งแรกๆ ก็มักจะตะกุกตะกักและทำให้เกิดการชะงักของการจราจร เพราะนักท่องเที่ยวมักจะระแวงว่าจะถูกรถเฉี่ยวชนจนทำให้ไม่กล้าก้าวเดินอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากไทย เพราะมีหลักการในวัฒนธรรมว่า “คนระวังรถ” แต่ถ้าหากเริ่มเรียนรู้และจับทางได้ จะเข้าใจทันทีว่าการข้ามถนนในเวียดนาม ให้เดินข้ามไปเลยเพราะ “รถจะดูคน” คนข้ามถนนเพียงต้องเดินเป็นจังหวะที่สม่ำเสมอ ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป ไม่เร่งความเร็วขึ้นหรือหยุดเดินกลางถนน รถที่ขับยวดยานเข้ามาจะสามารถกะระยะและขับหลบหลีกได้เอง ทั้งนี้ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าทักษะการขับขี่ยวดยานของคนเวียดนามนั้นสูง จึงสามารถทำเช่นนี้โดยไม่ค่อยมีอุบัติเหตุได้
นอกจากทักษะการขับขี่ที่เป็นสีสันแล้ว ปัจจุบันการเข้ามาของเทคโนโลยี e-hailing หรือการเรียกรถผ่านแอพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ทำให้นครโฮจิมินห์เต็มไปด้วยกองทัพของจักรยานยนต์ที่มีผู้ให้บริการหลักๆ เป็น 3 สีเหมือนไฟสัญญาณจราจรพอดิบพอดี นั่นคือ Grab บริษัทจากสิงคโปร์ - สีเขียว / Be จากเวียดนามเอง - สีเหลือง / และ Go-Viet จากอินโดนีเซีย - สีแดง
- คุณลุงขับ GrabBike รับส่งเด็กน้อยและผู้ปกครองไปยังจุดหมาย
เราสามารถเห็นเหล่าบรรดาผู้ให้บริการในชุด 3 สีพร้อมหมวกนิรภัยได้ทั่วไปในนครโฮจิมินห์ พวกเขาให้บริการตั้งแต่รับส่งผู้โดยสาร บริการรับส่งลูกหลานของชาวเมืองไป-กลับโรงเรียน รับส่งอาหารและสิ่งของต่างๆ โดยต่างคนต่างทำงานสามสีสอดประสานกันบนท้องถนน
เบื้องหลัง - จลาจล
แต่ก่อนจะเปลี่ยนผ่านมาสู่สภาวะสอดประสานที่เห็นจากภายนอกเช่นนี้ได้ ก็ใช่จะราบรื่น มีการปะทะกันระหว่างจักรยานยนต์รับจ้างดั้งเดิมกับแบบใหม่ที่ใช้แอพลิเคชั่นมาตลอด ในปี 2560 จักรยานยนต์รับจ้างแบบดั้งเดิมถูกแย่งรายได้ไปจนเหลือเพียงร้อยละ 20-30 จากเมื่อก่อน จำนวนผู้จักรยานยนต์รับจ้างของ Grab เพิ่มขึ้นจาก 100 รายในปี 2557 เป็น 50,000 รายในปี 2560 และมีสมัครเข้ามาใหม่เป็นร้อยรายในแต่ละวัน ในปี 2559 มีรายงานว่าพบการปะทะกันระหว่างคนขับ GrabBike กับจักรยานยนต์รับจ้างดั้งเดิมกว่าร้อยครั้ง ส่วนมากเกิดขึ้นที่สถานีขนส่ง โรงพยาบาล โรงเรียน มีครั้งหนึ่งในนครโฮจิมินห์บริเวณสถานีขนส่งที่มีการตะลุมบอนกันจนตำรวจต้องยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อขู่ให้ทั้งสองฝ่ายหยุดการต่อสู้กัน3 ภาพปัญหาศึกแย่งชิงผู้โดยสารเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ต่างจากที่เกิดกับไทยและอินโดนีเซีย
----------------
ส่วนผู้ให้บริการหน้าใหม่ เมื่อพ้นจาก "ฮันนีมูน" เข้าช่วง "หมดโปรฯ" แล้วจะกลายเป็นศัตรูตัวต่อไปของผู้บริโภคเองหรือไม่เมื่อมีอำนาจอยู่ในมือ... ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
----------------
จากการสอบถามผู้คนชาวเวียดนามเกี่ยวกับการใช้บริการจักรยานยนต์รับจ้างของคนในนครโฮจิมินห์ ควน (ขอสงวนนามสกุล) กล่าวว่ามอเตอไซค์รับจ้างอิสระเป็นสิ่งประจำวันของคนในเมืองใหญ่ของเวียดนามมานานแล้ว แต่เมื่อเป็นวินอิสระ ไม่มีคนควบคุม ไม่ต้องมีเสื้อวิน ไม่ต้องไปลงชื่อที่หน่วยงานราชการที่ไหน คือจับจองพื้นที่หากินกันตามอัธยาศัย ปัญหาที่พบมาตลอดคือการเรียกราคาแพงเกินจริง ด้วยราคาที่ถูกกว่าราวครึ่งหนึ่งของค่าโดยสารแบบดั้งเดิม ผู้ใช้บริการโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จึงแห่กันมาใช้บริการ e-hailing อย่างถล่มทลาย
เมื่อไม่อาจจะต้านทานการ “Disruption” จากเทคโนโลยีได้ ผู้ขับจักรยานยนต์รับจ้างแบบเก่าจำนวนมากก็ต้องปรับตัวตาม สมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ทำให้ปัจจุบันจักรยานยนต์รับจ้างแบบเก่าที่เจอตามมุมถนนหาได้ยากกว่าไม่กี่ปีก่อนมาก แม้ว่าการเข้าสู่ระบบดังกล่าวจะทำให้ต้องเจ็บตัวเพราะถูกแบ่งรายได้เข้าสู่บริษัทและหักโปรโมชั่นลดราคาที่แต่ละบริษัทปล่อยออกมาตลอดเพื่อแย่งลูกค้ากันก็ตาม
นอกจากสงครามสองล้อ สงครามสี่ล้อของบริการแท็กซี่ก็ดุเดือนไม่แพ้กัน มีความเคลื่อนไหวภาครัฐ เมื่อต้นปี 2561 โดยการนำมาตรการควบคุมทั้งหมดที่ใช้กับแท็กซี่ทั่วไปมาใช้กับรถจากบริษัท e-hailing ด้วยเพราะถือเป็นบริการแท็กซี่เหมือนกัน4 ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ยักษ์ใหญ่แท็กซี่ Vinasun ยื่นฟ้องต่อศาลให้ดำเนินการกับบริษัท e-Hailing ข้อหาเป็นเหตุให้เสียรายได้โดยเรียกค่าเสียหายเป็นเงินถึง 1.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ5 และที่น่าสนใจคือในเดือนธันวาคม ศาลมีคำตัดสินให้ Grab จ่ายเงินชดเชยให้ Vinasun เป็นจำนวนราว 2 แสนเหรียญสหรัฐฯ แต่ก็ได้มีการอุทธรณ์โดยทาง Grab แก้ต่างว่าการดำเนินธุรกิจนั้นเป็นไปตามความยินยอมของทางการโดยกระทรวงคมนาคมอย่างถูกต้องและไม่มีสิ่งใดที่ Grab ทำผิดกฎหมายอันส่งผลให้ Vinasun ต้องสูญเสียรายได้6 และการต่อสู้ระหว่างแท็กซี่แบบเก่ากับแท็กซี่ 4.0 นี้ยังคงดำเนินต่อไป
รักสามเส้า เก่า ใหม่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากเมื่อ e-hailing เข้ามาสู่ระบบรถรับจ้างคือ การประเมินคุณภาพผู้ให้บริการโดยตรงจากลูกค้าซึ่งไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงระบบติดตามเพื่อความปลอดภัย ข้อมูลผู้ขับขี่ที่ต้องโปร่งใส นับเป็นสิ่งที่ขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนที่มีคล้ายๆ กันนี้ได้ดีทีเดียว แต่เมื่อมีคนได้ก็ย่อมมีคนเสีย
เกมจราจรจลาจลในนครโฮจิมินห์ที่ใกล้จะจบยกนี้แสดงให้เห็นการต่อสู้กันระหว่างอำนาจของผู้ให้บริโภคและผู้ให้บริการที่สุดท้ายแล้ว “เทคโนโลยี” และ “นายทุน” มาช่วยผู้บริโภครุมยำฝั่งผู้ให้บริการหน้าเก่าจนร่อแร่ไป ส่วนผู้ให้บริการหน้าใหม่ที่ขี่ม้าขาวมาพร้อมเทคโนโลยี เมื่อพ้นจาก "ฮันนีมูน" เข้าช่วง "หมดโปรฯ" แล้วจะกลายเป็นศัตรูตัวต่อไปของผู้บริโภคเองหรือไม่เมื่อมีอำนาจอยู่ในมือก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
ส่วนในไทย หากรัฐยังไม่เปิดไฟเขียวให้สองตัวช่วยนี้เข้ามามีบทบาท เกมจราจรบนถนนทั้งระหว่าง ผู้บริการ-ผู้บริโภค รวมถึง ผู้บริการกันเอง ก็คงจะเป็นกลายเป็นจลาจลปรากฏบนสื่อได้เรื่อยๆ .
ภาพถ่าย: วีรภัทร บุญมา
------------------------
แหล่งอ้างอิง
[1] https://vietnaminsider.vn/vietnams-motorbike-sales-hit-record-high-in-2018/
[2] https://motorcyclesdata.com/2019/05/20/world-motorcycles-market/
[3] https://www.voanews.com/east-asia/uber-others-change-vietnams-motorbike-culture
[4] https://tuoitrenews.vn/news/business/20180309/vietnam-to-put-grab-uber-under-taxilike-regulations/44444.html
[5] https://vietnamnews.vn/society/468069/vinasuns-suit-against-grab-comes-to-the-court.html#xWkliGhW1V7TyWb6.97
[6] https://e.vnexpress.net/news/business/companies/vietnam-prosecutors-support-grab-appeal-against-vinasun-compensation-ruling-3879973.html