“ซีลอน” ถูกเรียกว่า “ศรีลังกา” ในปี 1972 ซึ่งก่อนหน้านี้เคยตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสในศตวรรษที่ 16 ต่อมาในปี 1658 เป็นเมืองขึ้นของฮอลันดา กระทั่งปี 1796-1948 อยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมอังกฤษ หลังจากนั้นวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1948 ก็ได้รับเอกราชจากอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็นฐานที่มั่นของชาวสิงหลและชาวทมิฬ ทั้งสองคือชนเผ่าพื้นเมือง ทว่า ชาวทมิฬบางส่วนอพยพมายังศรีลังกาในสมัยการปกครองของอาณานิคมอังกฤษเพื่อเป็นแรงงานและดูแลไร่ชา ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์บอกให้เรารับรู้ว่า ชาวพื้นเมืองสิงหล-ทมิฬเกิดการปะทะกันครั้งใหญ่ในปี 1070 ชาวทมิฬ “ปราชัย” ส่งผลให้ชาวสิงหลยึดครองเกาะศรีลังกาในฐานะ “ผู้กำชัย” การปะทะกันครั้งนั้นคือ การเริ่มต้นของการแยกสรรปันส่วน “ฐานที่มั่น” และการหยิบยื่นความรุนแรงให้แก่กันก็ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน
แม้ศรีลังกาจะห่างหายจากความรุนแรง “แบบเสียดุลการควบคุม” มาเกือบทศวรรษ ทว่า ยังมีความรุนแรงเป็นระลอกเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา กระนั้น เมื่อ 21 เมษายน 2562 ภาพความรุนแรงในศรีลังกาก็ปะทุและฉายซ้ำขึ้นมาอย่างน่าสะพรึงกลัว ส่งผลให้เกิดการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศ กล่าวคือ มีแรงระเบิดปะทุกว่า 8 จุด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 321 รายซึ่งชาวต่างชาติประมาณ 38 คนรวม 11 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา (4) อังกฤษ (8) จีน (2) ฮอลแลนด์ โปรตุเกส (1) อินเดีย (8) สเปน (2) ซาอุดิอาราเบีย (2) เดนมาร์ก (3) ตุรกี(2) และอื่น ๆ (9) นอกจากนี้ยังมีเด็กที่เสียชีวิตประมาณ 50 คน เหตุการณ์ในครั้งนี้มีผู้บาดเจ็บกว่า 500 คน ซึ่ง 375 คนยังอยู่โรงพยาบาล มีชาวต่างชาติกว่า 17 คน ซึ่งชาวญี่ปุ่นร่วมอยู่ในกลุ่มผู้บาดเจ็บด้วย จนรัฐบาลได้ประกาศ “สภาวะฉุกเฉิน” ในพื้นที่ดังกล่าว (AlJazeera, 2019)
หนำซ้ำสถานการณ์อันเลวร้ายครั้งนี้เกิดขึ้นตรงกับวันแห่งการเฉลิมฉลองพิธีกรรมทางศาสนา หรือ “วันอีสเตอร์” (Easter Day) ซึ่งชาวคริสต์ศาสนิกชนได้มีการรวมตัวกันในโบสถ์ ด้วยความเชื่อที่ว่า “เป็นวันสำคัญที่สุดของชาวคริสต์เพื่อเฉลิมฉลองการฟื้นคืนชีพของพระเยซู” เหตุการณ์ครั้งนี้เริ่มต้นในช่วงเวลา 8:45 เวลาท้องถิ่นศรีลังกา ด้วยการจู่โจมห้องอาหารในโรงแรมแชงกรีลา (Shangri-La hotel) และโรงแรมคิงส์บูรี (Kingsbury hotel) หลังจากนั้นโรงแรมโคลัมโบ ชินนามอน แกรนด์ (Colombo's Cinnamon Grand Hotel) แรงระเบิดได้ลั่นสนั่นโบสถ์ซึ่งเป็นศาสนสถานของชาวคริสต์ อย่างน้อย 45 คนที่ได้เสียชีวิตในกรุงโคลัมโบ (Colombo) หลังจากนั้นคือ โบสถ์เซนท์แอนโทนี (St Anthony's Church) ซึ่ง 67 คนเสียชีวิต และบาดเจ็บกว่า 160 คน ต่อมาโจมตีโบสถ์เซนท์เซอร์บัสเตียน (St Sebastian) ณ เมืองเนกัมโบ (Negombo) ทางตอนเหนือของกรุงโคลัมโบ ส่งผลให้ 25 คนเสียชีวิตและตามมาด้วยโบสถ์ไซออน (Zion Church) ในเมืองบัลติคาร์โลเอ (Batticaloa) ทางตะวันออกของประเทศ ส่งผลให้ผู้บาดเจ็บกว่า 300 คน หลังจากนั้นมีการโจมตีมัสยิดและลอบวางเพลิงเพื่อต่อต้านชาวมุสลิมในช่วงกลางคืนอีกระลอกหนึ่ง (อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม, 2019)
นี่คือความรุนแรงที่หลบซ่อนอยู่ในศรีลังกา ซึ่งเมื่อมันปะทุขึ้นมา แรงเหวี่ยงที่ซ่อนอยู่ใต้พรมจะทรงพลังอย่างที่เห็น สถานการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญซึ่งมีเป้าประสงค์และผู้บงการอยู่เบื้องหลัง สิ่งนั้นอาจไม่ได้สำคัญอะไรเมื่อมีคำถามที่ต้องขบคิดมากกว่านั้น “ประเทศที่เชื้อเพลิงความรุนแรงยังไม่มอดดับ หนำซ้ำมีบาดแผลและรอยร้าวเก่าๆ เป็นเชื้อเพลิง กอปรกับผลประโยชน์ทางด้านการเมืองที่ทุกคนต่างแสวงหา ศรีลังกาจะก้าวผ่านห้วงยามเหล่านี้ไปได้อย่างไร”
ศรีลังกากับประวัติศาสตร์บาดแผล
จากประวัติศาสตร์ดังกล่าวสะท้อนให้เราเห็นว่า ศรีลังกาไม่ได้เป็นเมืองสงบอย่างที่เราเข้าใจกัน อย่างน้อย “ความสงบ” ทำงานช้าและเงียบกว่า “ความรุนแรง” มากนัก ภาพเดิมที่เราอาจคุ้นเคยเกี่ยวกับกองกำลังติดอาวุธชาวทมิฬที่คอยเปิดศึกกับรัฐอยู่บ่อยครั้งกว่า 30 ปีและช่วง 10 ปี ให้หลัง “กองกำลัง” ดังกล่าวก็ “หยุดภารกิจ” ไปแล้ว กระนั้น ศรีลังกายังมีบาดแผลมากมายที่รอคอยการเยียวยา โดยเฉพาะ “ร่องน้อยและรอยแตก” ระหว่างชาติพันธุ์และศาสนา ซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวกลายเป็น “เสี้ยนหนาม” ที่คอย “สะกิดผืนดิน”และ “กัดกินปึกแผ่น” ศรีลังกามายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลของรัฐกับกลุ่มชาวทมิฬที่ปะทะกันมาโดยตลอดอันเนื่องมาจากการพยายามเปลี่ยนให้ชาวศรีลังกาทุกคนใช้ “ภาษาสิงหล” เป็นภาษาราชการแล้ว ยังมีบาดแผลทางการเมืองและกระบวนการหลายอย่างที่ทุกคนในประเทศนี้มักมีชีวิตไว้ “ต่อรองและเดิมพัน” ประชาชนศรีลังกาเกือบทุกกลุ่มจึงเลือกใช้วิธีการเคลื่อนไหว “แบบกองโจร” เพื่อติดอาวุธ แล้วนำพาประเทศไปสู่สงครามกลางเมืองไปในที่สุด ซึ่งรายะละเอียดดังกล่าวที่เป็นเสมือนรอยร้าวและบาดแผลศรีลังกาสามารถดูได้จากตารางที่ 1 ต่อไปนี้
จากตารางดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาภายในที่เกิดขึ้นในประเทศศรีลังกาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอาณานิคมอังกฤษในปี 1948-2009 และหลังจากนั้นก็ยังมีเหตุการณ์ความรุนแรง "แบบไม่ปะติดปะต่อ" เป็นจำนวนมากและยังส่งผลต่อการบั่นทอนขวัญและกำลังใจของประชาชนและภาครัฐ หนำซ้ำ เหตุการณ์ในวันที่ 21 เมษายน 2562 ยิ่งทำให้ประเทศหันกลับไปสู่ความหวาดระแวงกับภัยคุกคามความมั่นคงอีกระลอกหนึ่งหลังผ่านพ้นปี 2009 มาอย่างโหดร้าย
บาดแผลที่แลเห็น
กรณีของประเทศศรีลังกานั้น หลายคนพยายามติดตามว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพราะหลังจากรัฐบาลประกาศหยุดยิงอย่างเป็นทางการกับกลุ่มกองกำลังทมิฬในปี 2009 ประเทศศรีลังกาก็ไม่ได้กลับมาเป็นปึกแผ่นเลยทีเดียว ทว่า ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมาถือเป็นช่วงแห่งการสะสาง สมานรอยร้าวและพัฒนาประเทศ กระนั้นประเทศศรีลังกาก็ยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งบางครั้งก็รุนแรงจนกระทั่งประกาศ “สภาวะฉุกเฉิน” ไม่ว่าจะเป็นการปะทะของภาคประชาชนหรือปัญหาทางการเมือง ตลอดจนปัญหาอื่นๆ ซึ่งสามารถสรุปได้แบบคร่าวๆ ดังนี้
1. กองกำลังปลดแอกกระแทกรัฐบาล
ประชากรศรีลังกาประมาณ 20 กว่าล้านคนนั้น ร้อยละ 72 ของชาวศรีลังกาคือ “สิงหล” นับถือศาสนาพุทธและคริสต์ ส่วนชาวทมิฬมีประมาณ ร้อยละ 18 ซึ่งเป็นชาวทมิฬอินเดียประมาณร้อยละ 8 อพยพมายังศรีลังกาขณะอังกฤษปกครองในพื้นที่ส่วนนี้ พวกเขานับถือศาสนาฮินดู รัฐบาลศรีลังกาและอินเดียไม่ยอมรับว่า “ชาวทมิฬอินเดีย” กลุ่มนี้เป็นพลเมืองของตน และแน่นอน นี่คือปฐมบทของปัญหาทั้งหมดที่จะกล่าวในช่วงถัดไป ส่วนที่เหลือคือ “ทมิฬศรีลังกา” ร้อยละ11 ซึ่งอพยพมาอยู่ในประเทศศรีลังกามาอย่างยาวนาน ความขัดแย้งก็เริ่มเกิดขึ้นเมื่อชาวสิงหลหวาดระแวงเรื่องชาวทมิฬ ซึ่งชาวสิงหลส่วนใหญ่นั้นไม่ยอมให้ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เข้ามาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของตนเอง หนำซ้ำชาวสิงหลกลัวว่าชาวทมิฬจะมาแย่งฐานเศรษฐกิจของตน ความระแวงดังกล่าวจึงนำไปสู่การปะทะกันในที่สุด ซึ่งทั้งกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (LTTE: Liberation Tigers of Tamil Eelam) และกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยประชาชนชาวสิงหล (J.V.P.) ก็มีพรรคการเมืองของประเทศศรีลังกาเป็น “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ที่คอยให้ “การสนับสนุนและหล่อเลี้ยงผลประโยชน์” ของตนภายใต้ความรุนแรงดังกล่าว ความต่างระหว่างชาวทมิฬและสิงหลคือ ชาวทมิฬนั้น ใช้ภาษาทมิฬ นับถือศาสนาและวัฒนธรรมฮินดู ส่วนชาวสิงหลนับถือศาสนาพุทธ ใช้ภาษาสิงหล (ณัชชารีย์ เลิศสินฐิติกุล, 2558: 820)
หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 ชาวสิงหลมองว่า ตนเองสมควรเป็นผู้ปกครองประเทศนี้ ส่งผลให้ชาวสิงหลเริ่มกีดกันชาวทมิฬไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเมือง เศรษฐกิจ จนกระทั่งการมีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆ ของสังคม ตลอดจนชาวทมิฬไม่สามารถส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยและเข้าทำงานในองค์การของรัฐได้อย่างมีอิสรเสรีภาพและเท่าเทียมกัน ส่งผลให้ชาวทมิฬต้องอพยพไปรวมตัวกันทางภาคเหนือของประเทศศรีลังกา เพื่อการแยกตัวเป็นอิสระในเวลาต่อมา หลังเอกราชศรีลังกา มีชาวทมิฬเรียนในมหาวิทยาลัยคิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ในหน่วยงานรัฐบาลมีเจ้าหน้าที่ชาวทมิฬร้อยละ 30 ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้สูง เช่น แพทย์ วิศวกร ทนายความ นักบัญชี ฯลฯ เป็นชาวทมิฬถึงร้อยละ 60 ในขณะที่ชาวทมิฬศรีลังกามีสัดส่วนพลเมืองเพียง 10% เท่านั้น ชาวสิงหลที่มีความคิดชาตินิยมจึงมองว่าชาวทมิฬแย่งโอกาสในการศึกษาและการทำงานของพวกเขาไป ความรู้สึกไม่พอใจต่อชาวทมิฬจึงค่อยๆ สะสมขึ้นในหมู่ชาวสิงหล (มติชนสุดสัปดาห์, 2550)
ระหว่างปี 1948-1949 รัฐบาลศรีลังกาพยายามส่งชาวทมิฬกว่า 1 ล้านคนที่ทำงานในไร่ชาสมัยอาณานิคมอังกฤษนั้นกลับสู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ทว่า กลุ่มชาวทมิฬปฏิเสธที่จะกลับไปยังอินเดีย ส่งผลให้ ชาวทมิฬกลายเป็น “ผู้ไร้รัฐ” (Statelessness) ไม่มีสิทธิเลือกตั้งและไม่มีสัญชาติ ตลอดจนถูกตัดสิทธิในการศึกษาและการทำงานต่างๆ มากมายในประเทศ สาเหตุดังกล่าวชาวทมิฬจึงต้องการแยกประเทศเป็นของตนเองในนามกระบวนการแนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ (TULF: Tamil United Liberation Front) ตั้งแต่ปี 1976 ซึ่งกลุ่มนี้ทำงาน 2 ด้านทั้งเปิดเผยและปิดลับ กล่าวคือ ส่งตัวแทนลงเล่นการเมืองในระบบ ซึ่งสามารถครองตำแหน่งในสภาได้ถึง 16 ที่นั่ง ส่วนขับเคลื่อนแบบปิดลับคือ การทำสงครามกองโจมต่อต้านรัฐบาล สาเหตุดังกล่าวเกิดจากปี 1956 นายกรัฐมนตรีศรีลังกาบันดารานัยเก ได้ประกาศให้ “ภาษาสิงหล” เป็น “ภาษาราชการ” ภาษาเดียวของประเทศ จนส่งผลให้เกิดการปะทะกับระหว่างชาวทมิฬและชาวสิงหลจนผู้คนต้องล้มตายราว 150 ราย หลังจากนั้นมีการปะทะกันในปี 1983 เนื่องจากชาวทมิฬต้องการปกครองตนเอง ส่งผลให้เกิดการคร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน วิธีการก่อการของชาวทมิฬเพื่อต่อสู้กับรัฐนั้นคือ การก่อการร้ายด้วยการระเบิดพลีชีพ การพุ่งชนด้วยรถ การลอบสังหารผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางการทหาร หรือผู้นำท้องถิ่นชาวสิงหลและอื่นๆ (ณัชชารีย์ เลิศสินฐิติกุล, 2558: 821) หลังจากนั้น ศรีลังกาเริ่มมีการเจรจาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มทมิฬในปี เช่น ในปี 2002 นอร์เวย์เป็นตัวกลางในการเจรจา การเจรจาสันติภาพในศรีลังกาจัดมาทั้งสิ้น 8 ครั้ง ทว่าไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทางออกของความรุนแรงดังกล่าวจึงจบลงด้วยการพยายามยกระดับให้ชาวทมิฬได้ปกครองตนเองด้วยการกระจายอำนาจไปสู่การปกครองท้องถิ่น ใช้ภาษาทมิฬเป็นภาษาราชการ ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของชาวทมิฬ (ณัชชารีย์ เลิศสินฐิติกุล, 2558: 822)
----
"คำว่า “หนึ่งประเทศ” นั้นอาจไม่เคยมีอยู่จริง แน่นอน สิ่งเหล่าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เราจะต้องลบภาพความเกลียดชังและเปลี่ยนมันด้วยความเป็นเอกภาพ ด้วยการติดอาวุธผ่านหลักศีลธรรม ความเห็นอกเห็นใจระหว่างกัน"
--------
2. การปะทะกันระหว่างชาวมุสลิม-พุทธ
ในประเทศศรีลังกา ประชาชนนับถือศาสนาพุทธร้อยละ 70 ฮินดูร้อยละ 15 อิสลามร้อยละ 7 และคริสต์ร้อยละ 7 ชาวสิงหลนับถือศาสนาพุทธและคริสต์ ชาวทมิฬนับถือศาสนาฮินดูและคริสต์ ส่วนชาวมัวร์นับถือศาสนาอิสลาม จะเห็นได้ว่า ความต่างของชาติพันธุ์ที่ถูกฉาบทาด้วยหลักคำสอนศาสนาอันบิดเบือน กอปรกับผลประโยชน์ต่างๆ ที่แต่ละกลุ่มต้องการเพื่อ “สนองราคะตนเอง” ส่งผลให้ศาสนิกหลายคน “ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ” เพื่อการสร้างกลุ่มก้อน แล้ว “ย้อมแต่งและเจือปน” หลักคำสอนด้วย “อคติ” จนปะทุ “ความรุนแรง” ออกมาเพื่อห้ำหั่นกัน ในประเทศศรีลังกาจึงมีการปะทะกันในลักษณะเช่นนี้ ช่วงเดือนสิงหาคม 2556 มีความรุนแรงระหว่างพุทธกับมุสลิมเกิดขึ้น เนื่องจากชาวมุสลิมเปิดมัสยิดหลังใหม่ในกรุงโคลัมโบ เนื่องจากมัสยิดหลังเก่า รัฐบาลสั่งให้รื้อถอนเพื่อสนองนโยบายรัฐว่าด้วย “การพัฒนาผังเมือง” ทว่า ชาวพุทธไม่ยอมให้เปิดมัสยิดแห่งใหม่ จนกระทั่งมีการปาหินและการปะทะระหว่างกันกัน ส่งผลให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ย รัฐบาลจึงสั่งยกเลิกเวนคืนที่ดินและเพิ่มที่ดินผืนใหม่ รวมทั้งชดเชยค่าเสียหายเพื่อปรับปรุงมัสยิด ความรุนแรงครั้งนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน (MGR Online, 2556)
ความรุนแรงระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิม ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญในการบั่นทอน “ความสุขมวลรวม” ของสังคมศรีลังกา โดยเฉพาะการปะทะกันเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ส่งผลให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินถึง 10 วัน ความรุนแรงดังกล่าวเกิดจากนายเอ็มจี กุมาราสิงเห ชายชาวพุทธคนหนึ่ง มีปากเสียงกับชาวมุสลิม 4 คนเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ บวกกับการดื่มสุราจนมึนเมาและถูกกลุ่มชายมุสลิมทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา หลังการจัดงานศพของชายคนดังกล่าว ชาวสิงหลพุทธจำนวนหนึ่งได้บุกเผาทำลายย่านธุรกิจมุสลิม 46 แห่ง บ้านเรือนอีก 37 หลังและมัสยิด 4 แห่ง รวมทั้งเผาทำลายยานพาหนะ จนทำให้ชาวมุสลิมต่างตกอยู่ในภาวะหวาดกลัว (Voice TV, 2018)
ความรุนแรงดังกล่าวเริ่มบานปลาย ส่งผลให้รัฐบาลทำการ “ปิดช่องทางการสื่อสาร” โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ในประเทศที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและสภาวะตึงเครียด (ไทยรัฐออนไลน์, 2561) รัฐบาลเกรงว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็น “ชนวน” เพื่อนำไปสู่การแก้แค้น จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมความรุนแรง โดยยืนยันว่าจะจัดการขั้นเด็ดขาดกับผู้ที่ก่อความรุนแรงในชุมชน กระนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 3 นาย ผู้ก่อเหตุ 7 คน ถูกควบคุมตัว และในวันที่ 6 มีนาคม 2562 ชายมุสลิมถูกไฟเผาเสียชีวิต 1 นาย จากการปะทะกันในช่วงเวลา 2 วัน มีบ้านเรือนถูกเผาไปกว่า 150 หลัง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย (มติชน, 2561)
อดีตประธานาธิบดีของศรีลังกาได้กล่าวว่า “เราหวังจะอยู่ร่วมเป็นครอบครัวเดียวกันได้อย่างไร สร้างเอกภาพศรีลังกาของเราได้อย่างไร หากเรายังหมายมั่นที่จะประทุษร้ายต่อกัน มันอาจเป็นแค่เพียงความฝันในอุดมคติของผู้คน ซึ่งคำว่า “หนึ่งประเทศ” นั้นอาจไม่เคยมีอยู่จริง แน่นอน สิ่งเหล่าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เราจะต้องลบภาพความเกลียดชังและเปลี่ยนมันด้วยความเป็นเอกภาพ ด้วยการติดอาวุธผ่านหลักศีลธรรม ความเห็นอกเห็นใจระหว่างกัน อดทนอดกลั้นระหว่างกัน จงอดทนและอดกลั้นต่อวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากเรา” (Mano Chanmugam, 2015)
ความขัดแย้งดังกล่าวคือเรื่องเล่าที่ถูกอธิบาย ซึ่งไม่ต่างจากภาพจิกซอว์ที่สามารถปะติดปะต่อและเชื่อมโยงไปยังต้นสายปลายเหตุที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งแน่นอน สำหรับประเทศศรีลังกานั้นมี “นักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์” เป็นผู้คอยหล่อเลี้ยง “อาการเกลียดชัง” อยู่เบื้องหลัง จึงไม่แปลกที่การลอบสังหารแต่ละครั้ง ผู้ที่ตกเป็นเป้าและเหยื่อคือ “นักการเมืองระดับแนวหน้าของประเทศ” ซึ่งประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นแค่เพียงตัวแสดงประกอบฉากเพื่อให้สถานการณ์สมจริง ทว่า “ตัวเอก” ของเรื่องก็หนีไม่พ้น ผู้นำระดับสูงที่คอยเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สิงหลและทมิฬอย่างที่ได้รับรู้กัน ไม่แปลกที่ประเทศศรีลังกาไร้ความเป็นปึกแผ่นหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 21 เมษายน 2562
นามาล ราชปักษา (Namal Rajapaksa) ผู้นำฝ่ายค้านให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า “เรารู้สึกแปลกใจเมื่อได้ยินว่า นายกรัฐมนตรีนั้นบอกว่า ตนเองไม่ทราบเรื่องของการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือความรุนแรง หนำซ้ำนายกรัฐมนตรีพยายามตำหนิกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและยังโยนความผิดดังกล่าวไปให้ประธานาธิบดีและกองทัพ สิ่งนี้คือสิ่งที่เรารับไม่ได้ รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล พวกเขาคือส่วนหนึ่งของกันและกัน เราต้องการรักษาระบบการเมืองแบบหลายพรรค ทว่าเราอยากเห็นการทำงานของพรรครัฐบาลที่ไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีจำเป็นจะต้องใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ เพราะการไม่เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ความรุนแรงจึงเกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้” (AlJazeera, 2019)
แม้ความรุนแรงในประเทศศรีลังกาถูกใครหลายคนเชื่อมร้อยและอ้างเอ่ยว่า เป็นการปะทะกันของ “ความเชื่อและศาสนา” ซึ่งศาสนาเป็นตัวจุดชนวน กระนั้นศาสนาก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวและรุนแรงแต่อย่างใด หากแต่ผู้นำพาศาสนานั้นเองที่เคลือบแฝงความรุนแรงลงไปจนทำให้ “น่ากลัว” จะเห็นได้ว่า “ศาสนิก” ในแต่ละ “ค่ายและโครงความเชื่อ” มักใช้ “ศาสนา” เพื่อเป็น “เครื่องมือ” ในการปลุกเร้า สร้างสำนึก เปิดศึกและต่อรอง จนทำให้สังคมกลับเห็นว่า “ศาสนาเป็นตัวการของความรุนแรง” ผู้เขียนพยายามลงลึกรายละเอียดในหลายๆ ประเด็นของหลักคำสอนศาสนา ซึ่งพบว่า “แกนหลัก” ของศาสนาที่ทุกคนเชื่อ ศรัทธา บูชาและเคารพนั้น มัน “ไร้รากของความรุนแรง” ในทางกลับกัน มีสันติ ความเอื้อเฟื้อ ตลอดจนศีลธรรมแฝงเร้นอยู่เสมอ กระนั้น การต่อสู่ในยุคสมัยใหม่ “ศาสนา” อาจเป็น “เครื่องมือต่อรอง” อันทรงพลังกว่าอุดมการณ์ความเชื่ออย่างอื่น ซึ่งอาจล้มหายตายจากไปแล้วตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น ศาสนาจึงเป็น “แหล่งอนุบาลความสัมพันธ์” และสะพรั่งพวกพ้อง จนหลายครั้งกลุ่มก้อนที่ถูกปลูกฝังอย่าง “บิดเบี้ยวและบิดเบือน” ถูกนำไปประกอบฉากอธิบายเพื่อรองรับความรุนแรงไปในที่สุด
สรุป
ความรุนแรงที่ฉายออกมาให้เราเห็นในช่วงศตวรรษนี้ มักถูกเชื่อมโยงและใช้ผ่าน “ชาติพันธุ์” “ศาสนา” และ “สถานปฏิบัติธรรม” เสมอๆ ภาพจิกซอว์ชิ้นดังกล่าวเริ่มเห็นชัดขึ้นหลังจากการทำลายมัสยิดด้วย “การบุกแล้วจ่อยิง” ในประเทศนิวซีแลนด์โดยมือปืนผู้คลั่งสีผิว เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ขณะที่ชาวมุสลิมกำลังทำพิธีละหมาดวันศุกร์ ส่งผลให้ผู้คนกว่า 50 ชีวิตล้มตายและบาดเจ็บกว่า 40 คน แน่นอน ภาพจิกซอว์ดังกล่าวกลับถูกตอกย้ำให้เป็นรูปเป็นร่างชัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2562 ซึ่งโบสถ์ในประเทศศรีลังกาถึง 3 แห่งถูกโจมตี หนำซ้ำในขณะคริสต์ศาสนิกชนกำลังร่วมพิธีกรรมทางศาสนาเนื่องในวันอีสเตอร์ แม้สถานที่ทั้งสองที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่างกัน มีลักษณะการก่อเหตุที่ไม่เหมือนกัน หนำซ้ำ ผู้ก่อเหตุคนละกลุ่มกัน กระนั้น ผู้เสียชีวิตคือผู้บริสุทธิ์ไม่ต่างกัน นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิตหลายคนคือ “ผู้ปฏิบัติธรรม” นอกจากนี้ สถานที่ถูกก่อเหตุคือ “ศาสนสถาน” ความรุนแรงครั้งดังกล่าวจึงอาจเป็นภาพน่ากลัวที่พยายามคุกคามทุกคนและทุกสถานที่ไม่เว้นแม้ “บ้านของพระเจ้า”
นี่คือบาดแผลที่มีร่องรอยของความชัง “เวียนว่อนและซ่อนเร้น” อยู่บนเกาะซีลอน ภาพอดีตยังคงตามมาหลอกหลอนแผ่นดินผืนนี้ ศรีลังกาพยายามลบภาพเหล่านี้ออกจาก “ความทรงจำอันแจ่มชัด” ของประเทศ กระนั้น “ความพร่ามัว” ก็ไม่เคยปรากฏขึ้นจริง เมื่อประเทศต้องมาสบตา “บาดแผลครั้งใหม่” ที่ถ่างกว้างกว่าเดิมในวันที่ 21 เมษายน 2562 บางทีศรีลังกาอาจไม่จำเป็นต้องก้าวให้พ้นบาดแผลภายในเหล่านี้ การพยายามจดจำความสูญเสียครั้งใหม่เพื่อ “สะกิดใจ” อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แล้วเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีสติด้วยการเปิดใจรับความต่างที่ถ่างกว้างให้มากกว่าเดิม ไมตรีพาลา สิริเสนา (Maithripala Sirisena) ประธานาธิบดีศรีลังกากล่าวว่า “ทุกภาคส่วนจงช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่เพื่อนำแผ่นดินแม่สู่ความเจริญและช่วยกันสร้างสังคมของเราให้ดีกว่าเดิม” (Adaderana, 2018).
อ้างอิง
เชาวลี จงประเสริฐ. (2548). ความรุนแรงในศรีลังกา. วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ. มกราคม-ธันวาคม 2548, 1-10. Retrieved April 23, 2019, from http://ejournals.swu.ac.th/index.php/JOH/article/view/1280/1289
ณัชชารีย์ เลิศสินฐิติกุล. (2558). “ผลกระทบระหว่างความขัดแย้งของชาวทมิฬและสิงหลที่มีต่อความสัมพันธ์อินเดียและศรีลังกา”. Veridian E-Journal, Silpakorn University. 8 (1) มกราคม-เมษายน 2558, 818-830. Retrieved April 23, 2019, from https://www.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/download/32328/30116/
ไทยรัฐออนไลน์. (2561). ศรีลังกาเครียด! รบ.ประกาศภาวะฉุกเฉิน 10 วัน คุมขัดแย้งชาวพุทธ-มุสลิม. ไทยรัฐออนไลน์. 6 มีนาคม 2561. Retrieved April 23, 2019, from https://www.thairath.co.th/content/1221252
ภูมิ พิทยา. (2550). ปัญหาชนชาติและศาสนา (11). มติชนสุดสัปดาห์ 5 ตุลาคม – 11 ตุลาคม 2550. Retrieved April 23, 2019, from https://www.matichonweekly.com/scoop/article_11080
มติชน. (2561). ภาวะฉุกเฉินยังคุมไม่อยู่ เหตุม็อบพุทธปะทะมุสลิม รบ.ต่างชาติเตือนพลเมืองระวังไปศรีลังกา. มติชน. 7 มีนาคม 2561. Retrieved April 23, 2019, from https://www.matichon.co.th/foreign/news_866975
อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม. (2019). ศรีลังกา: บาดแผลและหยดน้ำตาในเอเชียใต้. Mapping Extremism in South Asia. 22 เมษายน 2019. Retrieved April 23, 2019, from https://xstremarea.home.blog/2019/04/22/pray-for-srilanka/?fbclid=IwAR2mYnu1Pocjz3gDNYO4zxGZwh9ptjgKpcDcLWFEXPJwJpx05Sucg6Yj9pY
AlJazeera. (2019). Sri Lanka Bombing. AlJazeera. April 23, 2019. Retrieved April 23, 2019, from https://www.aljazeera.com/news/2019/04/sri-lanka-bombings-latest-updates-190421092621543.html
Adaderana. (2018). President’s special message to the nation. Adaderana. October 28, 2018. Retrieved April 23, 2019, from http://www.adaderana.lk/news/51023/presidents-special-message-to-the-nation
Mano Chanmugam. (2015). Moral Rearmament and Ethnic Tolerance. Sunday Times. March 15, 2015. Retrieved April 23, 2019, from http://www.sundaytimes.lk/150315/sunday-times-2/moral-rearmament-and-ethnic-tolerance-140292.html
MGR Online. (2556). มุสลิมศรีลังกาสั่ง “ปิด” มัสยิดแห่งใหม่แล้วหลัง “พุทธ” ระดมปาหิน. MGR Online. 12 สิงหาคม 2556. Retrieved April 23, 2019, from https://mgronline.com/around/detail/9560000099986
Voice TV. (2018). ศรีลังกาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศคุมม็อบพุทธสุดโต่ง. Voice TV. 7 มีนาคม 2018. Retrieved April 23, 2019, from https://www.youtube.com/watch?v=1cr1UaI0rbA
ที่มาภาพ:
Sergei Gussev https://www.flickr.com/photos/133200397@N03/45840379745/