สังคม การเมือง วัฒนธรรม ความเคลื่อนไหวเจาะลึกในเอเชีย
12 ธ.ค. 2560
สุภาพร โพธิ์แก้ว
ปลายปี 2560 นี้ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ฤกษ์เปิดตัว กระแสเอเชีย (Asia Trend) วารสารออนไลน์ที่มุ่งเผยแพร่บทความและบทวิเคราะห์ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจของภูมิภาคเอเชีย กระแสเอเชีย ฉบับปฐมฤกษ์นี้ ได้รวบรวมบทความเกี่ยวกับสถานการณ์และประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2560 และเป็นสถานการณ์ที่นำไปสู่ความท้าทายและแนวโน้มใหม่ๆ ที่ภูมิภาคเอเชียจะเผชิญในอนาคตทศวรรษที่ผ่านมา เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการอพยพย้ายถิ่นของประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก
บทความเรื่อง “ใครไป ใครมา ทำงานอะไร อยู่ทีไหนในภูมิภาคเอเชีย” ของ เปรมใจ วังศิริไพศาล ได้วิเคราะห์สถานการณ์และแสดงภูมิทัศน์การย้ายถิ่นของประชากรในภูมิภาคเอเชียในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคแรงงาน ในขณะที่ ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์ ได้สังเคราะห์เนื้อหาการสัมมนาวิชาการเรื่อง “Rethinking Mekong” ซึ่งจัดโดย ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ เรียบเรียงเป็นบทความเรื่อง “อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงท่ามกลางพลวัตมหาอำนาจ” โดยฉายภาพของพลวัตภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาอำนาจโลกที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในแต่ละช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ นำไปสู่ข้อสรุปสำคัญเกี่ยวกับพลวัตภายใน และนำไปสู่การทำความเข้าใจ หรือ “คิดใหม่” เกี่ยวกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในปัจจุบัน
การเยือนกาตาร์ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ได้นำมาซึ่งวิกฤตความขัดแย้งครั้งใหญ่ในกลุ่มองค์กรคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) บทวิเคราะห์ “ก้าวย่างตะวันออกกลางหลังวิกฤตกาตาร์” โดย ศราวุฒิ อารีย์ จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงที่มาและพัฒนาการของวิกฤตดังกล่าว แนวโน้มของการเกิดขั้วอำนาจใหม่ขึ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งจะท้าทายนโยบายต่างประเทศของซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรในอนาคตอันใกล้ ปีที่ผ่านมา กระแสชาตินิยมแบบสุดโต่งได้ปรากฏตัวขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ดำเนินนโยบายใฝ่สันติภาพ ซึ่งแม้แต่ในรัฐธรรมนูญ ก็ยังได้ระบุไว้ชัดว่า ญี่ปุ่นสละสิทธิการใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
บทความเรื่อง “ชาตินิยมสุดโต่งในญี่ปุ่น” โดย ทรายแก้ว ทิพากร จะให้คำตอบกับผู้อ่านว่า ความคิดแบบชาตินิยมสุดโต่งยังคงมีอยู่มากน้อยเพียงใดในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน การศึกษาเพื่อรู้จักและเข้าใจเอเชียนั้น ภาพยนตร์เป็นสื่อหนึ่งที่สร้างการเรียนรู้ทางสังคมและวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี บทวิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง “English Vinglish: ภาษา ที่ทางในสังคม และการก้าวข้ามข้อจำกัดของผู้หญิงอินเดีย” โดย จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ จะพาผู้อ่านไปรับรู้และสัมผัสถึงชีวิตและจิตวิญญาณของผู้หญิงอินเดียในปัจจุบันผ่านภาพยนตร์เรื่อง “English Vinglish” ของผู้กำกับภาพยนตร์หญิงชาวเมืองปูเน่ (Pune) ประเทศอินเดีย.
ฉบับที่ 1 กันยายน - ธันวาคม 2560
จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์
ทรายแก้ว ทิพากร
ศราวุฒิ อารีย์
ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์
เปรมใจ วังศิริไพศาล