สังคม การเมือง วัฒนธรรม ความเคลื่อนไหวเจาะลึกในเอเชีย

ชาตินิยมขวาสุดโต่งในญี่ปุ่น:

ตั้งแต่ปลายปี 2016 มีข่าวเรื่องของนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น นายชินโส อาเบะและครอบครัว มีความเกี่ยวพันกับโรงเรียนเก่าแก่แห่งหนึ่งซึ่งมีแนวการสอนเน้นความรักชาติที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสงครามโลก

 

ตั้งแต่ปลายปี 2016 มีข่าวเรื่องของนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น นายชินโส อาเบะและครอบครัว มีความเกี่ยวพันกับโรงเรียนเก่าแก่แห่งหนึ่งซึ่งมีแนวการสอนเน้นความรักชาติที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสงครามโลก โรงเรียนทสึกาโมโต (Tsukamoto Kindergarten) เป็นโรงเรียนเด็กเล็กที่เก่าแก่มาตั้งแต่สมัยสงครามโลก จึงเคยมีแนวทางที่เน้นการปลูกฝังให้นักเรียนแสดงความเคารพต่อเพลงชาติ พระจักรพรรดิ และอุทิศตนเพื่อปกป้องประเทศจากการรุกรานของต่างชาติ แต่ในช่วงหลังสงครามโลกโรงเรียนได้ผ่อนคลายแนวทางรักชาติสุดโต่งแบบเดิมลงไป (ปัจจุบันมีเพียงการแสดงความเคารพต่อภาพของพระราชวงศ์ทุกเช้า ร้องเพลงชาติ และการไปเยี่ยมชมฐานทัพของกองกำลังป้องกันตนเองทุกปี)
 
โรงเรียนนี้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองเมื่อปลายปี 2016 บริษัท Morimoto Gakuen ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการโรงเรียนได้ซื้อที่ดินจากรัฐในกรุงโอซาก้าในราคาที่ถูกกว่าราคาซื้อขายถึงร้อยละ 14 เพื่อเปิดธุรกิจโรงเรียนในแนวเดียวกันนี้ โดยใช้ชื่อนายกรัฐมนตรีอาเบะเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธการขาย และยกย่องให้ภรรยาของนายอาเบะเป็นอาจารย์พิเศษ รวมถึงเชิญให้มากล่าวสุนทรพจน์ที่โรงเรียน อย่างไรก็ตามนายอาเบะปฏิเสธการมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินให้โรงเรียน แม้จะเคยกล่าวถึงการมีอุดมการณ์ร่วมกันกับครูใหญ่ของโรงเรียนนี้ เมื่อโรงเรียนทสึคาโมโตกลายเป็นจุดสนใจ จึงเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตุและเกิดการฟ้องร้องว่าโรงเรียนมีการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมและก้าวร้าวเมื่อกล่าวถึงชาวจีนและเกาหลีที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นผ่านทางจดหมายข่าวที่โรงเรียนส่งถึงผู้ปกครอง นอกจากนี้ภรรยาของครูใหญ่ยังยอมรับกับผู้ปกครองว่าตนเกลียดชาวจีนและเกาหลี แม้จะไม่เลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้[1]
 
คำถามคือความคิดแบบชาตินิยมสุดโต่งยังคงมีอยู่มากน้อยเพียงใดในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน สังคมที่เรียกตนเองว่าใฝ่สันติภาพ แม้แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 9 ก็ยังสละสิทธิการใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง อาจไม่ได้มีสันติภาพมากอย่างที่เรามองเห็นจากภายนอก
 
ได้มีความพยายามรวบรวมกลุ่มต่างๆ ที่มีแนวคิดและพฤติกรรมแบบชาตินิยมขวาจัดโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นและสรุปว่า ในระหว่างปี 1996-2013 มีกลุ่มดังกล่าวถึง 1,000 กลุ่ม มีสมาชิกประมาณ 100,000 คน พฤติกรรมของกลุ่มเหล่านี้ เช่น hate speech ในทุกรูปแบบ การใช้รถตู้หรือรถบรรทุกติดลำโพงใหญ่ๆ ติดตราสัญลักษณ์ของกลุ่ม ติดข้อความโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ติดตราสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิ ติดธงชาติญี่ปุ่น หรือติดธงทางการทหาร ออกตระเวณไปประท้วงตามแหล่งที่มีองค์กรของชาวรัสเซีย จีน และเกาหลี บางครั้งไปจอดตามแหล่งชุมชนที่มีคนมาจับจ่ายซื้อของ ใช้การโฆษณาด้วยการเล่นเทปหรือสดออกทางลำโพง หรือบางครั้งเปิดเพลงชาติ พฤติกรรม hate speech นี้ลดความรุนแรงและความถี่ลงหลังจากที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายควบคุมพฤติกรรมดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2016[2]   
 
แนวคิดทางการเมืองของกลุ่มชาตินิยมขวาจัดแม้จะมีความแตกต่างกันบ้างแต่โดยหลักๆ จะเน้นการธำรงรักษาความเป็นญี่ปุ่น ต่อต้านก้าวร้าวต่อคอมมิวนิสต์ และก้าวร้าวต่อสหภาพครูของญี่ปุ่นซึ่งมีนโยบายต่อต้านการเล่นเพลงชาติหรือแสดงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติญี่ปุ่น เป็นกลุ่มที่ส่งเสริมสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ใช้คำพูดที่ก้าวร้าวต่อผู้หญิง กลุ่มเหล่านี้มีทัศนคติที่ก้าวร้าวต่อรัสเซีย จีน และเกาหลี โดยเฉพาะในกรณีเขตแดนต่างๆ ที่ยังไม่สามารถตกลงให้เป็นที่สิ้นสุด เช่น กรณีหมู่เกาะเซนกากุ หรือบริเวณหมู่เกาะตอนเหนือของฮอกไกโด เป็นกลุ่มที่ตีความประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองแบบให้ความชอบธรรมต่อญี่ปุ่นในการทำสงคราม เพราะญี่ปุ่นเป็นเผ่าพันธุ์ที่เป็นผู้นำ ไม่เชื่อในเรื่องพฤติกรรมไม่เหมาะสมของทหารญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม ไม่เห็นด้วยกับการเขียนตำราเรียนที่ทำให้ญี่ปุ่นดูเหมือนเป็นฝ่ายผิด และคิดว่ารัฐบาลไม่ควรเซ็นเซอร์ตำราประวัติศาสตร์ สิ่งที่เป็นปัญหามากเกิดจากพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าวของกลุ่มเหล่านี้ซึ่งรวมถึงการลอบทำร้ายและสังหารผู้นำทางการเมืองบางคนที่มีแนวคิดแตกต่างไปจากพวกตน
 
สมาชิกของกลุ่มขวาจัดเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปในทุกสาขาอาชีพ รวมทั้งในพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาลทั้งนายอาเบะและนายคาโคอิเคะ ครูใหญ่ของโรงเรียน เป็นสมาชิกของกลุ่ม Nippon Kaigi ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มีอิทธิพลมาก ก่อตั้งในปี 1997 จากการรวมกันของกลุ่มชวาจัดสองกลุ่มได้แก่ นิฮอนโอมาโมรุไค (Nihon o mamoru kai, 1974) และกลุ่มนิฮอนโอมาโมรุโคคุมินไคงิ (Nihon o mamoru kokumin kaigi, 1981)[3] มีสมาชิกที่จ่ายค่าสมาชิก ถึง 40,000 คน และมีสมาชิกในท้องถิ่นอีก 240 กลุ่มทั่วประเทศ[4]  กลุ่ม Nippon Kaigi อ้างว่ามีสมาชิกอยู่ในรัฐสภา Diet ถึง 280 คน โดยมีนายโทโมมิ อินาดะ (Tomomi Inada) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเป็นหัวหน้ากลุ่ม ทั้งยังมีสมาชิกดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน[5]
 
 
----------------
กลุ่มชาตินิยมสุดโต่งซึ่งมีลัทธิชินโตเป็นพื้นฐานมีแนวคิดว่าอารยธรรมแบบฆราวาสของตะวันตกเป็นศัตรูตัวฉกาจของญี่ปุ่น
----------------
 
ในวงการธุรกิจก็มีนักธุรกิจใหญ่ๆ ระดับชาติที่มีแนวคิดเช่นนี้ มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเมื่อต้นปีนี้เอง นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันและชาวจีนคู่หนึ่งพบว่าในโรงแรม Apa ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีสาขากว่า 400 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นได้วางหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับทางเลือกไว้ในห้องพักของแขก เป็นหนังสือที่ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นในอีกแง่มุมหนึ่ง ข้อความที่เสนอในหนังสือ เช่น ปฏิเสธการสังหารโหดที่นานกิง กล่าวอ้างว่ากรณีการสังหารโหดที่นานกิงเป็นสิ่งที่จีนสร้างภาพขึ้น ปฏิเสธพฤติกรรมทารุณผู้หญิง comfort women กล่าวหาว่าสหรัฐอเมริกาเองก็มีพฤติกรรมก่อเหตุรุนแรงเพื่อปรักปรำความผิดให้แก่ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งไม่ได้ดีกว่าญี่ปุ่น  อีกทั้งการกล่าวหาญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกเป็นการสมรู้ร่วมคิดกัน นอกจากนี้ยังมีผู้วิจารณ์ว่าการบริการของโรงแรมส่อแนวทางที่เน้นผู้ชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งของฝ่ายขวาสุดโต่ง  หนังสือนี้เขียนขึ้นโดยผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจโรงแรม Apa เอง[6] ทั้งเกาหลีใต้และจีนได้ประท้วงและปฏิเสธที่จะให้นักกีฬาของตนเข้าพักในโรงแรมดังกล่าวในช่วงกีฬาโอลิมปิกที่กำลังจะถึงนี้
 
นักวิชาการกล่าวว่า การที่จะเข้าใจถึงพลังภายในของญี่ปุ่นต้องเข้าใจแนวทางและการปฏิบัติของชินโตอย่างถ่องแท้ หลักคิดของชินโตเกี่ยวข้องโดยตรงต่อวิถีทางการเมือง กล่าวคืออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมของญี่ปุ่น สังคมญี่ปุ่นเป็นครอบครัวขยายที่มีพระจักรพรรดิเป็นหัวหน้า สายเลือดชาวญี่ปุ่นสูงส่งกว่าชาติอื่นๆ เพราะพระจักรพรรดิเป็นผู้สืบเชื้อสายโดยตรงจากเทพีอามาเทราสึได้มีการสืบค้นแนวคิดและที่มาของการก่อตั้งสมาคมลับแนวขวาสุดโต่งและพบว่าพลังขับเคลื่อนให้เกิดสมาคมเหล่านี้มีที่มาจากกลุ่มศาสนาในศตวรรษที่ 8 ซึ่งเป็นกลุ่มทางศาสนาพุทธที่เข้ามาจากประเทศจีน นักบวชของลัทธินี้เคยมีความสัมพันธ์กับราชสำนักที่กรุงเกียวโต แต่ต่อมาราชสำนักได้เลิกการติดต่อกับกลุ่มลับเหล่านี้ กลุ่มที่อิงศาสนานี้ได้มาผสมกลมกลืนกับความเชื่อแบบชินโตในสังคมญี่ปุ่น และขยายตัวออกไปตั้งตัวเป็นสำนักต่างๆ ที่มีพิธีกรรมและรายละเอียดต่างๆ กัน เมื่อโอดะโนบุนางะเรืองอำนาจได้พยายามกำจัดกลุ่มศาสนาที่มีอิทธิพลเหล่านี้ ทำให้สมาชิกของกลุ่มเพิ่มความเกลียดชังไม่ไว้วางใจระบบโชกุน แต่ภักดีต่อสถาบันพระจักรพรรดิ
 
ในยุคปัจจุบัน เมื่อสหรัฐอเมริกาส่งเรือมาบังคับให้ญี่ปุ่นต้องเปิดประเทศ ญี่ปุ่นต้องทำสนธิสัญญาคานากาวา (Kanagawa Treaty) หรือ Japan-US Treaty of Peace and Amity (1854 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่ปี 1859) ซึ่งเป็นที่มาของการที่ชาติตะวันตกเข้ามาบังคับให้ญี่ปุ่นต้องทำสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมทั้งทางการค้าและทางกฎหมายกับประเทศอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และเนเธอร์แลนด์ (ความเสียเปรียบทางกฎหมายได้รับการแก้ไขให้สิ้นสุดไปในปี 1899) นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น จนกระทั่งเกิดการล้มเลิกระบบโชกุน และเริ่มการปฏิรูปในสมัยเมจิ กลุ่มชาตินิยมเหล่านี้เป็นผู้ที่ส่งเสริมการขยายตัวของญี่ปุ่นออกสู่เอเชียตะวันออกด้วยวิธีการลับๆ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังภาพการต่อสู้ที่เห็นในหน้าประวัติศาสตร์ทั่วไป ชัยชนะของญี่ปุ่นเหนือรัสเซียในปี 1905 เป็นกำลังใจให้กลุ่มมุ่งเป้าไปที่การขยายตัวของญี่ปุ่นออกไปทั่วภูมิภาคในฐานะผู้นำ 
 
ญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลก แนวคิดเช่นนี้ไม่ได้สูญหายไปเนื่องจากสงคราม แต่กลุ่มเหล่านี้บ้างก็กลายรูปไปเป็นกลุ่มศาสนาใหม่หรือกลุ่มการเมืองต่างๆ นอกจากกลุ่ม Nippon Kaigi แล้วยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกมากมาย เช่น กลุ่ม Issuikai และกลุ่ม Great Japan Patriotic Party (Dai-nippon aikokuto) บางกลุ่มก็มีความสัมพันธ์กับยากุซ่า และบางกลุ่มก็เป็นหัวคะแนนให้แก่นักการเมืองด้วย ในช่วงหลังทศวรรษ 1990 เป็นต้นมามีกิจกรรมที่เข้มแข็งมากขึ้น เราสามารถเห็นผลงานได้จากการที่ข้อเสนอของฝ่ายขวาสุดโต่งขึ้นมาเป็นประเด็นที่ได้รับการตอบรับในสังคมมากขึ้น เช่น การปรับแก้รัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับญี่ปุ่นในยุคใหม่ การส่งเสริมสันติภาพของโลกด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงของญี่ปุ่น นโยบายที่รัฐบาลควรปกป้องผลประโยชน์และชื่อเสียงของประเทศ และส่งเสริมการศึกษาที่ปลูกฝังความภาคภูมิใจในความเป็นญี่ปุ่น
 
นักวิชาการพยายามทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่กลุ่มชาตินิยมสุดโต่งในญี่ปุ่นสามารถขึ้นมาแสดงอิทธิพลอย่างชัดเจนขึ้นในช่วงนี้ว่าเป็นลักษณะของการปะทะกันของวัฒนธรรมตามแนวคิดของฮันทิงตัน (Huntington’s clash of civilization) วิธีคิดของกลุ่มดังกล่าวของญี่ปุ่นเป็นไปในแนวเดียวกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง กล่าวคือ กลุ่มชาตินิยมสุดโต่งของญี่ปุ่นเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่มีความเชื่อในลัทธิชินโต เชื่อในความยิ่งใหญ่ (superiority) ของชาติพันธุ์ของตน และเชื่อว่าพวกของตนถูกทำให้ตกต่ำ (inferiority) เช่นเหตุการณ์ในช่วงระหว่างทศวรรษ 1920-1930 เป็นความขัดแย้งที่เกิดระหว่างอารยธรรมชินโตของญี่ปุ่นกับโลกตะวันตก
 
มาร์ค เจอเกนส์ไมเยอร์ (Mark Juergensmeyer) อธิบายว่าในยุคนี้ ภาพที่เห็นได้ทั่วไปคือ ความต้องการที่จะมีทิศทางทางการเมืองที่อิงหลักศาสนาที่ปลอดจากการแทรกแซงของตะวันตก  ไม่เฉพาะแต่ในตะวันออกกลางเท่านั้น เช่น ในเอเชียกลาง อียิปต์ และศรีลังกา ระบบโลกในยุคหลังสงครามเย็นที่เข้ามาแทนที่ระบบสองขั้วอำนาจ นอกจากจะมีลักษณะที่เห็นพลังทางเศรษฐกิจมากขึ้น คอมมิวนิสต์เสื่อมอำนาจลงไป เรายังได้เห็นการกลับมาเข้มแข็งของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ต่างๆ บนพื้นฐานของความจงรักภักดีต่อศาสนา เพราะฉะนั้นความขัดแย้งที่เรากำลังประสบอยู่และคาดว่าจะยังคงมีต่อไปคือความขัดแย้งระหว่างชาตินิยมทางศาสนากับชาตินิยมแบบฆราวาสของตะวันตก สำหรับญี่ปุ่น กลุ่มชาตินิยมสุดโต่งซึ่งมีลัทธิชินโตเป็นพื้นฐานมีแนวคิดว่าอารยธรรมแบบฆราวาสของตะวันตกเป็นศัตรูตัวฉกาจของญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อให้ญี่ปุ่นเป็นอิสระได้ทั้งทางจิตวิญญาณและทั้งทางกายภาพจะต้องทำลายระบบโลกที่ประกอบด้วยแนวคิดประชาธิปไตย และหันมาใช้ระบบที่มีพระจักรพรรดิเป็นศูนย์กลาง โดยแต่ละประเทศก็มีลำดับความสำคัญลดหลั่นกันลงไป[7]
 
ด้วยแนวคิดดังกล่าว เราสามารถเข้าใจได้ว่าการขึ้นมาของกระแสชาตินิยมแบบสุดโต่งในญี่ปุ่นไม่ได้ผิดแปลกกว่าประเทศอื่น แต่เป็นแนวโน้มของโลก ชาติที่มีองค์ประกอบของอัตลักษณ์คือศาสนาซึ่งเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของประชาชน ก็มีทิศทางดังกล่าวเช่นกัน เช่น ในกลุ่มประเทศมุสลิม และชาตินิยมแบบพุทธที่กำลังก่อกระแสในประเทศพม่า แต่ปัญหาสำหรับญี่ปุ่นคือภาระทางประวัติศาสตร์ที่เคยก่อสงครามและสร้างความทุกข์ยากให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน
 
การที่ญี่ปุ่นแวดล้อมไปด้วยประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพทางทหารสูง เช่น จีน รัสเซีย และเกาหลี ทำให้เมื่อกระแสชาตินิยมแบบขวาสุดโต่งปรากฎตัวชัดเจนขึ้น ก็เป็นความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเพิ่มความพยายามในการรักษาสันติภาพให้เข้มแข็งตามขึ้นไปด้วย.
 
 
 
 
 
 
 
อ้างอิง
 
[1] “School of Shock” The Economist (Online) Available from http://www.economist.com/news/asia/21717996-embarrassingly-it-has-links-prime-minister-ultranationalist-kindergarten-japan [May 4,2017]
 
[2] “A year after enactment of hate speech law, xenophobic rallies down by nearly half” Japan Times (online) Available from http://www.japantimes.co.jp/news/2017/05/22/national/social-issues/year-enactment-hate-speech-law-xenophobic-rallies-nearly-half/#.WSQe0mh942w [May 22, 2017]
 
[3] Sachie Mizohata. “Nippon Kaigi : Empire, Contradiction, and Japan’s Future” in The Asia-Pacific Journal : Japan Focus. No.1 Vol.14 (November 1, 2016)
 
[4] Lisa Torio. “Abe’s Japan is a racist, patriarchal dream” Jacobin Available from https://www.jacobinmag.com/2017/03/abe-nippon-kaigi-japan-far-right/ (March 28, 2017)
 
[5] “Ultra-nationalist school linked to Japanese PM accused of hate speech.”, The Guardian (online)
https://www.theguardian.com/world/2017/mar/15/ultra-nationalist-school-moritomo-gakuen-linked-to-japanese-pm-shinzo-abe-accused-of-hate-speech [March 15, 2017]
 
[6] “Apa hotels won’t remove books that deny 1937 Rape of Nanking for Olympics” Japan Times [online] Available from www.japantimes.co.jp/news/2017/06/03/national/apa-hotels-wont-remove-books-deny-1937-rape-nanking-olympics/#.WTN-D2h942w (June 3, 2017)
 
[7] Walter A. Skya. Japan’s Holy War: The Ideology of Radical Shinto Ultranationalism. P.4
 

บทความอื่นๆ ในฉบับ

ฉบับที่ 1 กันยายน - ธันวาคม 2560

ชื่อผู้แต่ง

ทรายแก้ว ทิพากร


ประวัติผู้แต่ง

การศึกษา: อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำแหน่งปัจจุบัน: นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา, ผู้อำนวยการศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา


ผลงานท่ีน่าสนใจ

กระบวนการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ ศึกษากรณีญี่ปุ่น แคนาดา และออสเตรเลีย