อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงท่ามกลางพลวัตมหาอำนาจ:
นับจากที่ได้มีการพัฒนาความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ในปี 1992 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ทุกประเทศสามารถเชื่อมโยงเข้าหากัน รวมทั้งการเชื่อมต่อกับนอกภูมิภาค เช่น การพัฒนาทางหลวงไตรภาคี (India-Myanmar-Thailand Tripartite Highway) เชื่อมต่อระหว่างอินเดีย เมียนมา และไทย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปี 2016 ก่อให้เกิดการหลั่งไหลทั้ง “คน” และ “ทุน” ภายในภูมิภาคอย่างเข้มข้นภายใต้กระแสภูมิภาคาภิวัตน์ (Regionalization)
บทนำ
อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในปัจจุบันได้เพิ่มนัยของความผันแปรจากการเป็นจุดบรรจบกันของยุทธศาสตร์ทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจหลักของโลกทั้งจากยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชีย (Pivot to Asia) ของสหรัฐฯ ในการหวนกลับเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลในภูมิภาคนี้อีกครั้งภายใต้ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative: LMI) หรือการที่จีนพยายามขยายอิทธิพลของตนในประเทศต่างๆผ่านยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt and One Road : OBOR) หรือเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) เพื่อไม่ให้สหรัฐปิดล้อมจีนสำเร็จ รวมถึงการรุกคืบของอินเดียจากนโยบาย “มุ่งตะวันออก” (Look East Policy: LEP) สู่นโยบายปฏิบัติการตะวันออก (Act East Policy: AEP) ในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงผ่านกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-คงคา (Mekong–Ganga Cooperation: MGC) จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายที่รัฐบาลประเทศต่างๆ จะรับมือในการรักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจทั้งสาม ขณะเดียวกันประเทศในภูมิภาคทั้งเมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชาได้เข้าสู่ระยะใหม่ของการพัฒนา (New Phase of Development) นับจากที่ได้มีการพัฒนาความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ในปี 1992
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ทุกประเทศสามารถเชื่อมโยงเข้าหากัน รวมทั้งการเชื่อมต่อกับนอกภูมิภาค เช่น การพัฒนาทางหลวงไตรภาคี (India-Myanmar-Thailand Tripartite Highway) เชื่อมต่อระหว่างอินเดีย เมียนมา และไทย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปี 2016 ก่อให้เกิดการหลั่งไหลทั้ง “คน” และ “ทุน” ภายในภูมิภาคอย่างเข้มข้นภายใต้กระแสภูมิภาคาภิวัตน์ (Regionalization)
ความผันแปรทั้งจากปัจจัยการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลง (Transformation) อย่างรวดเร็วจากการเชื่อมต่อ (Connectivity) ทำให้องค์ความรู้เรื่องอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจากกรอบความคิดชุดเดิมถูกสั่นคลอน และอยู่ในจุดที่ต้องหวนกลับไปทบทวนเพื่อก้าวข้ามผ่านอุปสรรคและความท้าทาย โดยการปรับเปลี่ยนวิธีคิด (Rethinking) เกี่ยวกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้สอดรับกับพลวัตและแนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Looking into Future) ในอนาคต ซึ่งไทยต้องเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การสังเคราะห์เนื้อหาการสัมมนาชิ้นนี้จึงต้องการที่จะฉายภาพของพลวัตโดยเฉพาะพลวัตภายนอกที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคในแต่ละช่วงเวลา ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปสำคัญเกี่ยวกับพลวัตภายใน และนำไปสู่การทำความเข้าใจหรือ “คิดใหม่” เกี่ยวกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในปัจจุบัน
มหาอำนาจโลกกับการเปลี่ยนแปลงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
พลวัตภายนอกที่สำคัญซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์ก็คือเหล่าประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย โดยแต่ละประเทศมีรูปแบบ วิธีการ และช่วงเวลาที่แตกต่างกันในการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ และกลายเป็นพื้นฐานของการก่อรูปความเป็นภูมิภาคในปัจจุบัน ดังนี้
1. สหรัฐอเมริกา:
บทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคอาจไม่ได้มีจุดเน้นที่การลงทุนในทางเศรษฐกิจ หากแต่เป็นเรื่องของความมั่นคงทางทหารและการเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง แม้ว่าโครงการหลายอย่างจะส่งผลในทางเศรษฐกิจไม่น้อยก็ตาม อาทิ การสร้างฐานที่มั่นทางทหารในไทยซึ่งทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เติบโตไม่น้อย หากแต่ก็กลายเป็นศูนย์บัญชาการของการทำลายประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องถึงช่วงสงครามเย็น มีการทิ้งระเบิดจำนวนมหาศาล สร้างความสูญสียอย่างมากให้กับประเทศในอินโดจีน
หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น ก็ได้เกิดการผลักดันของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กลายเป็นคุณค่าหลักที่ประเทศในภูมิภาคต้องยึดถือ ทำให้นางอองซาน ซูจีกลายเป็นดาราของโลก ให้รางวัลเกือบทุกอย่างโดยนายทุนเกือบทุกคนในระดับสูงๆ นำโดยนายจอช โซรอส สนับสนุนเรื่องของสิทธิมนุษยชนโดยในช่วงนั้นได้เกิดการขยายตัวขององค์กรเอกชนที่ทำด้านสิทธิมนุษยชนถึงกว่า 200 องค์กร ในจำนวนนี้ราว 180 องค์กร เกิดขึ้นตรงชายแดนไทย-เมียนมาเพื่อที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเมียนมา เพราะเมียนมาเป็นประเทศที่สำคัญมากที่เชื่อมระหว่างอินเดีย จีน กับประเทศไทย แต่เป็นประเทศเดียวที่ไม่ยอมรับระบบทุนนิยมของโลก โดยหลังจากเมียนมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อไม่นานมานี้ ทุนในด้านสิทธิมนุษยชนหายไปพอสมควร ในขณะเดียวกันนายโซรอสได้เข้าไปลงทุนทันที มีการซื้อพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อสร้างอาคารสำนักงาน และยกเลิกการสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน
2. จีน:
จีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสัมพันธ์กันมานานกว่า 2,000 ปี ประชาชนในทั้งสองพื้นที่ได้ทำความเข้าใจและปรับตัวเข้าหากัน ถึงแม้ว่าจะมีความคาดหวังต่างกันในความสัมพันธ์ดังกล่าว มีทั้งความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกัน อาทิ การต่อสู้ระหว่างจีน กับเวียดนามและเมียนมา เนื่องจากการพยายามขยายอิทธิพลทางการเมืองของจีนลงมาทางใต้ในดินแดนที่ติดกัน เป็นต้น ความสัมพันธ์เกิดขึ้นผ่านการติดต่อสื่อสารผ่านเส้นทางทางบกและทางทะเล เพราะฉะนั้นการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ของจีนจึงมองได้หลายแง่มุมและมีประเด็นแยกย่อยมากมายในเชิงประวัติศาสตร์
ในยุคปัจจุบัน ความต้องการของจีนที่จะเข้ามาสัมพันธ์กับภูมิภาคยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้มีการประกาศนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือที่เรียกกันว่า One Belt One Road ซึ่งก็คือความริเริ่มที่จะขยายบทบาทในภูมิภาคโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นทุนนิยมที่นำโดยรัฐ นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านกลไกทางราคา สะท้อนการปรับเปลี่ยนของจีนที่ผ่านมาว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยเส้นทางระบบทุนนิยม การขับเคลื่อนทุนนิยมจีนผ่านนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนี้ส่งผลต่อประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างมาก เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ การเข้ามาสัมพันธ์กับภูมิภาคของจีนในปัจจุบันจึงจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคที่เข้มข้นกว่าในอดีต และสะท้อนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหากแต่เป็นยุทธศาสตร์ในการปรับเปลี่ยนและสานต่อนโยบายอย่างต่อเนื่องของจีนมาตั้งแต่อดีต
การเข้ามาสัมพันธ์กับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในปัจจุบันของจีนมีการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการพัฒนาเส้นทางโทรคมนาคมระหว่างประเทศ โดยมียูนนานและกว่างซีเป็นจุดเชื่อมที่สำคัญ โดยพื้นที่ดังกล่าวของจีนได้อยู่ในกรอบการพัฒนาภูมิภาคภายใต้ความร่วมมือ Greater Mekong Sub region (GMS) มานานแล้ว ในช่วงแรกมีเฉพาะมณฑลเดียวคือยูนนาน แต่ในปี 2004 จึงมีกว่างซีมารวมด้วย ซึ่งทำให้พื้นที่ดังกล่าวบูรณาการเข้าด้วยกันในทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน แม้ว่าความร่วมมือดังกล่าวจะริเริ่มโดย ADB ที่กำกับโดยญี่ปุ่น เพื่อเข้ามามีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค พร้อมๆกับไทยที่มองการพัฒนาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านหรือที่เรียกว่า CLMV เพื่อยกระดับการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งเท่ากับว่าบทบาทญี่ปุ่นนั้นมีมาก่อนจีน เพราะจีนนั้นแทรกมาด้วยเพราะมีสองมณฑล ผ่านเส้นทางหลักคือ North-South Economic Corridor ที่จีนให้ความสำคัญมากและเป็นช่องทางหลักอันหนึ่งในการสัมพันธ์กับภูมิภาคในปัจจุบัน
บทบาทของจีนทวีมากขึ้นผ่านการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการเข้ามาของจีนในการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเท่านั้น หากแต่จีนยังมีสถานะเป็นตัวเชื่อมให้กับประเทศอื่นๆในการเข้ามาสัมพันธ์กับภูมิภาคผ่านกองทุนดังกล่าวด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า AIIB อาจเป็นช่องทางที่กว้างไปกว่า One Belt One Road เพราะว่ามันมีผู้มีส่วนได้เสียจากทวีปต่างๆอย่างในยุโรป ซึ่งเท่ากับเป็นวิสัยทัศน์ในการที่สร้างโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน หนึ่งในนั้นเป็นโครงการในประเทศอินโดนีเซีย โดยร่วมมือกับ World Bank ที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียปัจจุบันได้ให้ความสำคัญ และก็มีปากีสถาน 2 โครงการเกี่ยวกับ Hydro Power หรือว่าจะทำ Motor way และก็มีบังคลาเทศ เป็นต้น
----------------
กล่าวได้ว่าคงไม่มีช่วงใดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา 2000 กว่าปี ที่มีการเปิดเส้นทางทางบกจากจีนสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะง่ายเหมือนในปัจจุบัน
----------------
อย่างไรก็ดี การเข้ามาสัมพันธ์ของจีนก็ทำให้เกิดความขัดแย้งและส่งผลในเชิงลบต่อภูมิภาคด้วยเช่นกัน อาทิ การสร้างเขื่อนในตอนต้นของแม่น้ำที่อยู่ในประเทศจีน ที่เป็นการกระทำฝ่ายเดียวโดยปราศจากการมีส่วนร่วมจากประเทศท้ายน้ำ ซึ่งเมื่อเขื่อนเรียบร้อยแล้ว 7-8 เขื่อน จีนจึงเริ่มเปลี่ยนท่าทีในการเข้าร่วมกับความร่วมมือ Lanchang Mekong Cooperation เพื่อเข้ามามีส่วนในการจัดการแม่น้ำโขงตอนท้ายน้ำ ทั้งหมดนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งที่ผลประโยชน์มันก็ต่างกันในเรื่องของการใช้น้ำ ใช้ไฟฟ้า ใช้ทรัพยากรมากมายในแม่น้ำโขง ปัจจุบันจีนก็ได้ผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนไล่ลงมาเรื่อยๆ เช่น เขื่อนไซยะบุรี เป็นต้น การสร้างเขื่อนต่างๆนั้นทำให้มีการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ เรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศต่างๆ ในตอนล่างของกัมพูชาและเวียดนามซึ่งมีผลกระทบอย่างมหาศาล
นอกจากนี้ ความขัดแย้งยังเป็นผลพวงมาจากการมีปฏิสัมพันธ์อย่างเข้มข้นในภาคประชาชน ซึ่งเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน จนอาจกล่าวได้ว่าคงไม่มีช่วงใดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา 2000 กว่าปี ที่มีการเปิดเส้นทางทางบกจากจีนสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะง่ายเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์พอสมควรสำหรับเรื่องการเดินทางที่คนจีนเข้ามาในเมืองไทย จากยูนนาน จากกว่างซี รวมถึงสินค้าและการลงทุนอื่นๆด้วย โดยปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคค่อนข้างมากเนื่องจากปัจจัยด้านขนาด ซึ่งเมื่อเกิดความเชื่อมโยงหรือที่เราเรียกว่า connectivity ความหลากหลายของสินค้า วัฒนธรรม และทรัพยากรต่างๆจะเชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งเป็นโจทย์ที่เราต้องคิดต่อไปเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ที่สำคัญคือยุทธศาสตร์ของจีนในภูมิภาคเพิ่งดำเนินอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น
การเข้ามาสัมพันธ์ของจีนตอบสนองต่อผลประโยชน์ของจีนเองในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากจีนได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ตั้งแต่ปี 2008 เพราะปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกาส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก โดยเฉพาะต่อคู่ค้าที่สำคัญอย่างจีน การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนต่างเทศของจีนเป็นมาตรการหนึ่งในการรักษาอัตราการเจริญเติบโต ในแง่นี้ One Belt One Road จึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในจีน โดยการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากเป็นประโยชน์ในทางการทูตที่ประเทศเพื่อนบ้านได้ใช้แล้ว ยังเป็นการช่วยกระตุ้นการผลิตของจีนซึ่งประสบปัญหาค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะบริเวณมณฑลชายฝั่ง เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถเชื่อมต่อการผลิตผ่านเครือข่ายการคมนาคมกับจีนได้ จีนได้เข้าไปลงทุนทั่วภูมิภาคและอุตสาหกรรมจีนก็ไม่ได้แข่งด้วยค่าจ้างอีกต่อไป และทุกวันนี้จีนต้องการแข่งด้วยการทำสินค้าให้มีคุณภาพและสินค้าเทคโนโลยีสูงขึ้น
3. อินเดีย:
รูปธรรมหนึ่งของนโยบายมุ่งตะวันออกของจีนคือการผลักดันทางหลวงไตรภาคีโดยอินเดีย เส้นทางนี้เริ่มตั้งแต่จังหวัดตาก ในประเทศไทยและก็เข้าไปที่เมียวดีในประเทศเมียนมา เข้ามาสิ้นสุดลงที่ย่างกุ้งและก็ลากขึ้นไปจนถึงกลางประเทศก็คือตรงมัณฑะเลย์ ซึ่งเมียนมาได้เรียกว่ายุทธศาสตร์ตัว L จากมัณฑะเลย์ซึ่งเมียนมาได้ใช้พัฒนายุทธศาสตร์ตอนบนเรียกว่าตัว Y ก็คือเมื่อขึ้นไปมัณฑะเลย์ก็แยกไปทางขวาเข้าไปที่จีนกับแยกไปทางซ้ายเข้าอินเดีย ในส่วนที่เรียกว่าเป็น Land lock ของประเทศอินเดีย ก็คือ North Eastern Region ประกอบไปด้วย 7 รัฐ ปากทางเข้าคือรัฐมณีปุระ นอกจากนี้ อินเดียยังมีโครงการลงทุนก่อสร้างท่าเรือซิตต่วย (Sittwe) ที่เรียกว่า Kaladan Multi-Modal Transit Transport Project ซึ่งท่าเรือดังกล่าวตั้งอยู่ปากแม่น้ำกาลาดาน ซึ่งเชื่อมตรงขึ้นไปจะเกือบถึงชายแดนเมียนมา-อินเดีย ซึ่งสามารถเชื่อมผ่านระบบถนนจนถึง North Eastern India ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ในขณะที่อินเดียเองนโยบายในช่วงหลังก็เน้นในเรื่องของ South Corporation ฉะนั้นยุทธศาสตร์ตัว Y และ L ของเมียนมาจึงถูกผนวกและตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ว่า Indian Myanmar Thailand Tripartite Highway ซึ่งปัจจุบันถนนเส้นนี้เสร็จเรียบร้อยและเปิดใช้งานแล้ว ปัจจุบันนี้ได้รับการพัฒนาต่อให้เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2017-2018 ซึ่งส่งผลต่อการขยายเครือข่ายของนักธุรกิจอินเดีย อาทิ ที่แม่สอดในปัจจุบันนี้ ไม่ได้มีแต่นักธุรกิจชาวเมียนมากับนักธุรกิจจีนเท่านั้น แต่สิ่งที่พบคือมีนักธุรกิจอินเดียได้เริ่มมา sourcing สินค้าจากแม่สอดเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากหอการค้าแม่สอด สินค้าที่นักธุรกิจอินเดียมา sourcing มากที่สุดก็คือแป้ง น้ำตาล และน้ำมันพืช โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าอินเดียแม้จะฟังดูว่าอยู่ไกล แต่จริงๆ แล้วอินเดียเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมากขึ้นเรื่อยๆ
อินเดียกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงยังมีเอกลักษณ์ร่วมกันหลายอย่าง โดยเฉพาะในทางวัฒนธรรม เช่น เรื่องของศาสนา ตั้งแต่ 300 ปีหลังพระพุทธเจ้าดับขันธ์พระปรินิพพานไปแล้วพระเจ้าอโศกก็ส่งพุทธสาวกมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในนี้ดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิทั้งหมด ฉะนั้นเราจึงได้รับพุทธนิกายเถรวาท มาจากอินเดีย และก็ทั้งเมียนมา ไทย และสปป.ลาว กัมพูชาประชากรส่วนใหญ่ก็นับถือพุทธเถรวาทเป็นหลัก นอกจากศาสนาแล้วอีกเรื่องหนึ่งถ้ายุโรปมีละติน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีสันสกฤตกับภาษาทมิฬเป็นหลัก ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในศาสนาพราหมณ์ ฮินดูของอินเดีย คือพระเวทและใช้บาลีในอรรถกถาในพระไตรปิฎก ฉะนั้นจึงมีรากภาษาร่วมกัน ในขณะที่ภาษาทางวรรณคดีเรารับมาจากภาษาทมิฬ เช่นรามยะนะ ซึ่งถูกพัฒนามาเป็นรามเกียรติ์ในประเทศไทย เป็นต้น
หากแต่ความท้าทายในการสร้างความสัมพันธ์ก็มีอยู่มากเช่นกัน ที่มากที่สุดที่เราพูดถึงก็คือ Trust crisis หรือเรียกกว่ากระบวนสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะคนในภูมิภาคโดยเฉพาะคนไทยมักจะมองคนอินเดียในสายตาที่ไม่ไว้ใจ หากแก้ตรงนี้ได้ไทยกับอินเดียมีโอกาสที่เป็น Partner ถ้าเราจะเชื่อมโยงตรงนี้ได้ก็คือต้องเปลี่ยนจาก Trust crisis ให้เป็น Trust building ความร่วมมือก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะจากตัว L ตรงนี้หมายถึง East-West Economic Corridor ซึ่งเชื่อมประเทศไทยเข้าสู่ สปป.ลาว และเข้าสู่เวียดนามด้วย เพราะฉะนั้นอินเดียเองก็ต้องมองไปตามนโยบาย Look East หรือว่าปฏิสัมพันธ์ตะวันออก เริ่มต้นในทศวรรษ 1990 หากแต่ในช่วงเริ่มนั้นยังไม่มีผลที่เป็นรูปธรรมนัก ตอนนี้เริ่มมีปฏิสัมพันธ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และไม่ได้มองไทยอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมองไปถึง สปป.ลาวและเวียดนามด้วย
อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจากอดีตถึงปัจจุบัน
อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นอาณาบริเวณที่ประกอบไปด้วยประเทศในอาเซียน ได้แก่ เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อาณาบริเวณดังกล่าวนี้มีการเปลี่ยนแปลงและมีพลวัตตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์ อันเป็นผลสำคัญอันหนึ่งมาจากอิทธิพลภายนอกซึ่งมีพลวัตเช่นกัน อ.อุกฤษฏ์ จึงเน้นย้ำให้เห็นว่า การศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนั้นต้องมีการ “คิดใหม่” อยู่เสมอ ดังเช่นในอดีตสมัยศตวรรษที่ 19 อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงถูกให้ความสนใจในฐานะ “อินโดจีน” ซึ่งเป็นเป้าหมายในการยึดครองและกอบโกยทรัพยากรของประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย มุมมองดังกล่าวเปลี่ยนไปในยุคหลังสงครามเย็น ที่ถูกมองในฐานะ “อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” และผลักดันการพัฒนาตามโมเดลของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เกิดการขับเคลื่อนเงินทุนมหาศาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ ที่สำคัญอาทิ เส้นทางถนน North- South Economic Corridor cละ East West Economic Corridor ตลอดจนการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะต่างๆผ่านหลักสูตรอบรมระยะสั้นที่สนับสนุนโดยต่างประเทศ ทั้งด้านการศึกษา และสาธารณสุข กับคนในบริเวณภูมิภาคนี้ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจึงถูกมองในฐานะพื้นที่แห่งการพัฒนาที่มีศักยภาพ และถูกผลักดันมากขึ้น
จากสมาชิกอาเซียนในการขยายการบูรณาการทางเศรษฐกิจและผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ในปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นหมุดหมายแห่งความหวังในการสร้างความเติบโตให้กับอาเซียนโดยรวม
นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงยังเป็นผลสำคัญจากการสร้างพลวัตภายในเองด้วย โดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนรัฐชาติหลังสงครามเย็นที่นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความสำคัญของโลก และเชื่อมต่อเข้าสู่ทุนนิยมโลกอย่างรวดเร็ว การผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 อาทิ ความร่วมมือในรูปเหลี่ยมเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันพัฒนาจนกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งเป็นตัวสูบฉีดการไหลเวียนของเงินทุน แรงงาน สินค้า และทรัพยากรไปทั่วภูมิภาค
การพิจารณาอาณาบริเวณอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนี้จึงไม่สามารถมองโดยแยกส่วนออกจากกันโดยเส้นเขตแดน โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ หากแต่ควรมองว่าเป็น Trans boundaries ซึ่งแต่ละประเทศเชื่อมถึงกันหมด การพิจารณาประเด็นต่างๆ จึงต้องเปลี่ยนแปลงไป เช่น ในประเด็นด้านการย้ายถิ่น (Migration) ไม่อาจมองในกรอบจำกัดของเงื่อนไขจากประเทศต้นทางและปลายทางอีกต่อไป หากแต่ต้องมองว่าเป็นลักษณะ Mobility ของผู้คนในภูมิภาค ซึ่งมาในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งแรงงาน นักท่องเที่ยว และนักศึกษา เป็นต้น.
อ้างอิง
1. สังเคราะห์จากการบรรยายของ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ในหัวข้อเรื่อง สหรัฐฯ-แม่โขง: อนาคต หลังโอบาม่า
2. สังเคราะห์จากการบรรยายของ ศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ ในหัวข้อเรื่อง จีน-แม่โขง : จากยุทธศาสตร์ “มุ่งลงใต้” สู่ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
3. สังเคราะห์จากการบรรยายของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ในหัวข้อเรื่อง ทางหลวงไตรภาคี (India-Myanmar-Thailand Tripartite Highway) : แม่โขงในนโยบาย “ปฏิบัติการตะวันออก” ของอินเดียและความท้าทายต่อจีน
4. สังเคราะห์จากปาฐกถา ของ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ในหัวข้อเรื่อง พลังขับเคลื่อนแม่โขง อดีต ปัจจุบันและอนาคต
ภาพประกอบจาก Designed by Nikitabuida