สังคม การเมือง วัฒนธรรม ความเคลื่อนไหวเจาะลึกในเอเชีย

62 ปี ความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย-มาเลเซีย:

ภาพความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างไทย-มาเลเซีย ผ่านช่วงเวลาต่างๆ ในหลายมิติ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมาเลเซียมีมายาวนาน มีความเกี่ยวเนื่องกันในหลายมิติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1945 ที่นักประวัติศาสตร์มาเลเซียถือเป็นประวัติศาสตร์มาเลเซียยุคใหม่ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาของสงครามเย็น ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมาเลเซียจะอยู่ภายใต้บริบทของสงครามเย็นทั้งสิ้น มีสภาพแวดล้อมเป็นตัวกำหนดท่าทีของไทยและมาเลเซีย สถานะของมาเลเซียในขณะนั้นยังแยกตัวเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยภายใต้การปกครองของอังกฤษ และได้มีการรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐในเวลาต่อมา
 
มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1957 ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่รับรองความเป็นชาติของมาเลเซีย ซึ่งเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับมาเลเซียอย่างเป็นทางการ และในปี 1962 ห้าปีหลังจากมาเลเซียได้รับเอกราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของทั้งสองประเทศ
 
ห้วงเวลาที่มาเลเซียอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัว เป็นช่วงเวลาที่มาเลเซียต้องการกำลังใจและความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่มาเลเซียเผชิญหน้ากับอินโดนีเซีย ซึ่งได้ขอให้ไทยเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้ง ในส่วนของกบฏคอมมิวนิสต์จีนมาลายา ประเทศไทยส่งกำลังช่วยเหลือมาเลเซียในการปราบปรามจนประสบผลสำเร็จ บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในขณะนั้นคือรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ พันเอกถนัด คอมันตร์  เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมอาเซียน (ASEAN: The Association of Southeast Asian Nations) และเป็นผู้ร่วมทำให้ประเทศมาเลเซียมีสถานะจนถึงทุกวันนี้ หากเปิดดูตำราเรียนของมาเลเซีย จะพบว่าท่านเป็นบุคคลที่อยู่ในหนังสือวิชาประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามาเลเซียได้ให้ความสำคัญระดับบุคคลเป็นอย่างมาก
 
ไทยกับมาเลเซียทำงานร่วมกันภายใต้มิติความมั่นคงเป็นส่วนใหญ่ และความมั่นคงเหล่านั้นจะมองเห็นในแบบเดียวกันจึงจับมือร่วมกันได้ ในการทำงานระหว่างสองประเทศจึงต้องมีข้อตกลงร่วมกัน มีกรอบการทำงานที่ชัดเจนโดยไม่มีการออกนอกกรอบ มีคณะกรรมการพูดคุยหารือในแต่ละระดับ เช่นกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับปัญหาชายแดนภาคใต้  ตั้งแต่มาเลเซียได้สงบศึกกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาลายาในปี 1987 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นของสุดสงครามเย็น ดูเหมือนว่ามาเลเซียไม่น่าจะมีปัญหาอะไรอีกแล้ว แต่กรณีเหตุการณ์เวียดนามบุกยึดกัมพูชา มาเลเซียมองว่าอาจเป็นโดมิโนที่ส่งผลกระทบต่อมาเลเซียได้ ถ้าหากประเทศไทยล้มมาเลเซียอาจล้มตามไปด้วย ฉะนั้นความมั่นคงของมาเลเซียจึงขึ้นอยู่ที่ความมั่นคงของไทย ตราบใดที่ไทยยังคงดำรงอยู่ได้มาเลเซียก็จะปลอดภัย
 
ตั้งแต่การขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของ ดร. มหาเธร์ ในปี 1981 ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศที่แตกต่างจากผู้นำหลายคนก่อนมาก ดร. มหาเธร์ ได้วิพากษ์สังคมชาวมาเลย์เอง มีการวิพากษ์วิจารณ์ตะวันตกอย่างแข็งกร้าว นโยบายลำดับแรกๆ ของ ดร. มาหาเธร์ คือการให้ความสำคัญกับตะวันออก (Look East Policy) โดยการมุ่งเน้นความสำคัญไปที่ประเทศญี่ปุ่นในระยะแรก ส่วนระยะหลังจะรวมถึงประเทศจีน เกาหลีใต้ และฮ่องกงด้วย 
 
การเมืองในมาเลเซียเป็นรูปแบบการเมืองเชิงต่อรองของชนชั้นนำ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นการเมืองบนพื้นฐานของชาติพันธุ์ (Consociational Democracy) เป็นการนำชาติพันธุ์เข้ามาสู่เวทีการเมือง การต่อรองอำนาจ และการกำหนดนโยบาย การแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์จะเป็นไปตามสัดส่วนของชาติพันธุ์  อย่างไรก็ดีรัฐบาลชุดใหม่ที่เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการริเริ่มความเป็นประชาธิปไตยมุ่งสู่ชาติพันธุ์ที่หลากหลาย (Centricalism) ที่เน้นเรื่องของความเป็นกลางมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการต่อรองระหว่างชาติพันธุ์ โดยไม่ได้เอาสัดส่วนแต่ละเชื้อชาติมาเป็นตัวกำหนดอีกต่อไป ไม่พยายามที่จะสุดโต่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เช่น การที่เชื้อชาติมาเลย์ควรได้รับส่วนแบ่งมากกว่าหรือมีสิทธิพิเศษมากกว่าเชื้อชาติอื่นจะไม่มีอีกต่อไป ด้วยเงื่อนไขก่อนการขึ้นสู่อำนาจของ ดร. มหาเธร์ ในยุคที่สอง โดยพรรคร่วม PH (Pakatan Harapan) มีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นของเชื้อชาติมลายูที่โหวตคะแนนเสียงให้ ส่วนอีก 70 เปอร์เซ็นต์ยังอยู่กับพรรคอัมโน (UMNO)  แสดงให้เห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาล Pakatan Harapan ได้รับเลือกมาจากคนมาเลเซียเชื้อชาติอื่นเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเงื่อนไขอันนี้เองที่เป็นตัวกำกับให้นายกรัฐมนตรี ดร. มหาเธร์ ต้องดำเนินนโยบายไปในทิศทางของพรรคร่วมที่มีมติเห็นชอบ ฉะนั้นการเข้ามาสู่อำนาจของ ดร. มหาเธร์ครั้งนี้เป็นการกลับมาแก้ไขในสิ่งที่เขาเคยออกแบบผิดพลาดเอาไว้ในอดีตทั้งสิ้น
 
นโยบายต่างประเทศของชนชั้นนำ
 
นโยบายต่างประเทศนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียจะเป็นไปในรูปแบบนโยบายต่างประเทศของชนชั้นนำ (Elite orientation) และสะท้อนมุมมองทัศนคติของผู้นำในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นนายกคนใดก็ตาม จะมีนโยบายที่เป็นการตัดสินใจบนความคิดของตนเอง เช่น Look East Policy ซึ่งเป็นนโยบายของ ดร. มหาเธร์ โดยในทางปฏิบัตินโยบายต่างประเทศควรผ่านขบวนการกลั่นกรองและปรึกษาหารือว่าอะไรสำคัญต่อผลประโยชน์ของชาติ (National Interest) เพื่อที่จะส่งต่อไปยังศูนย์กำหนดนโยบายต่อไป ไม่ใช่เป็นการฉุกคิดของผู้นำแล้วประกาศเป็นนโยบาย ฉะนั้นในยุคของ ดร. มหาเธร์ มีนโยบายที่สะท้อนความเป็นความคิดของตัวเองสูง  (Personalization of Foreign Policy) เช่น การอิสลามานุวัตร (Islamization) ต่อมาในยุคของ อับดุลเลาะห์ อะห์หมัด บาดาวี แม้จะมีนโยบายต่างประเทศไม่แข็งกร้าวเหมือนสมัยของ ดร. มหาเธร์ แต่ยังคงมีความคิดของตัวเองในเชิงนโยบายอยู่ เช่น อิสลามฮาฎอรี (Islam Hadhari) เน้นความเป็นอิสลามสายกลาง บ่งบอกตัวตนของนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น และสะท้อนออกมาในเชิงนโยบาย ต่อมายุคของ นาจิบ ราซัก มีนโยบายไม่แตกต่างกันเท่าไรนักในการพยายามนำความคิดของตัวเองเข้ามากำหนดนโยบาย
 
----------------------------
เป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยต้องศึกษาทำความเข้าใจในรายละเอียด เพราะตำราเก่าๆ ที่เกี่ยวกับมาเลเซียไม่สามารถอธิบายการเมืองมาเลเซียปัจจุบันได้อีกต่อไป
--------------------------- 
 
ทิศทางของนโยบายการต่างประเทศมาเลเซียยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ นายกรัฐมนตรี ดร. มหาเธร์ เคยกล่าวว่าเราไม่สามารถควบคุมคนอื่นได้ แต่เราควบคุมสิ่งที่อยู่ในมือเราได้ ฉะนั้นถ้าจะปรับนโยบายการต่างประเทศ ต้องเป็นการปรับจากประเทศของตัวเองเป็นอันดับแรก เช่นกรณีที่มาเลเซียมีการเจรจาต่อรองการค้าใหม่ (renegotiation) กับจีน เพราะอยู่ในความสามารถที่มาเลเซียจะทำได้ และมาเลเซียจะไม่ไปกดดันจีนแต่อย่างใด แต่มองหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรในการใช้ช่องทางนี้ส่งผลให้ประเทศมาเลเซียได้รับประโยชน์สูงสุด
 
นายกรัฐมนตรี ดร. มหาเธร์ให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นอย่างมาก รองลงมาเป็นองค์การ OIC (Organization of Islamic Cooperation) ท่านมีความฉลาดหลักแหลมในการที่จะเล่นเกมกับชาติมหาอำนาจในเรื่องของการกำหนดท่าทีและย่างก้าวไม่ให้ห่างเหินจากประเทศเหล่านี้มากจนเกินไป เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ดร. มหาเธร์พยายามดึงประเทศมหาอำนาจเข้าสู่เวทีการเจรจาผ่านองค์การมากกว่าเป็นการส่วนตัวเช่นความร่วมมือในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ถือเป็นเกราะป้องกันตนเองของ ดร. มหาธร์ เป็นอย่างดี นโยบายต่างประเทศของ ดร. มหาเธร์ ด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจมีการเปิดกว้างมากขึ้น (Liberal) เพราะเงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้น ที่พรรคร่วมส่วนใหญ่เป็นพหุเชื้อชาติ มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนยกชุด ฉะนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยต้องศึกษาทำความเข้าใจในรายละเอียด เพราะตำราเก่า ๆ ที่เกี่ยวกับมาเลเซียไม่สามารถอธิบายการเมืองมาเลเซียปัจจุบันได้อีกต่อไป
 
มิติทางเศรษฐกิจกับความมั่นคง
 
มิติทางเศรษฐกิจ มาเลเซียถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อไทย เพราะเป็นประเทศพ่อค้าคนกลางที่คล้ายกับประเทศจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ สำหรับไทยแล้วมาเลเซียถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 รองจาก จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นไทยต้องตระหนักถึงความสำคัญของประเทศมาเลเซียให้มาก ในส่วนของภาคใต้ของไทยจะไม่เกิด Multiplier Effect หากไม่มีประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย หากไทยต้องการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับประเทศมาเลเซียเป็นอันดับแรก ซึ่งมาเลเซียถือเป็น ‘Partner Beyond ASEAN’ ในการก้าวสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีอีกครั้งของ ดร.มหาเธร์ มูฮัมหมัด ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับประเทศไทย เพราะที่ผ่านมา ดร. มหาเธร์ ได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทยมาโดยตลอด ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียต้องเป็นการสร้างอนาคตร่วมกัน ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ในอดีตที่ทิ้งไว้เป็นเพียงประวัติศาสตร์
 
ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มาเลเซียถือเป็นปัจจัยและตัวแสดงสำคัญในการยุติความขัดแย้ง เพราะกลุ่มแกนนำ (separatists) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย และมาเลเซียเองมีบทบาทสำคัญในองค์การ OIC (Organization of Islamic Cooperation) ซึ่งเป็นตัวแสดงสำคัญในบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความสงบสุขของจังหวัดชายแดนใต้ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับมาเลเซีย เพราะจะส่งผลดีต่อมาเลเซียเอง ไม่ว่าจะทางด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างชายแดน และการท่องเที่ยว ฉะนั้นหากประเทศไทยจะส่งเสริมและพัฒนาภาคใต้ในด้านใดก็ตามจึงต้องให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย  
 
ในยุคของ ดร. มหาเธร์ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC: ASEAN Economics Community) ได้ก่อตั้งขึ้น มีการริเริ่มความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย จนกระทั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย เหตุการณ์ก่อการร้ายระเบิดที่บาหลี และปัญหาความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ของไทย หากไล่เรียงดูเหตุการณ์ทั้งหมดจะพบว่าสิ่งที่มาเลเซียยังเหลืออยู่ที่ไม่ได้ทำในมิติของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมาเลเซียคือการช่วยเหลือไทยในการเป็นตัวกลางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ถึงแม้มาเลเซียมองปัญหาความขัดแย้งในชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายใน ซึ่งมาเลเซียจะไม่แทรกแซง (Non-interference) แต่ลึกๆ แล้วปัญหาเหล่านี้มีผลกระทบต่อมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียมองว่าถ้าประเทศเพื่อนบ้านมีความมั่นคง มาเลเซียเองก็จะมั่นคงตามไปด้วย ฉะนั้นปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทยถึงแม้ว่าเป็นเรื่องภายในแต่มาเลเซียพร้อมให้ความร่วมมือเสมอ และประกาศว่าจะเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสะท้อนความคิดเดิมที่กล่าวข้างต้น เพราะฉะนั้นมาเลเซียต้องการความสงบสุขในจังหวัดชายภาคแดนใต้เพื่อจะได้ทำธุรกิจการค้าและการลงทุนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และสามารถสร้างความร่วมมือเรื่องอื่นๆ ได้อีก เช่น ความร่วมมือด้านตำรวจอาเซียน ความร่วมมือเกี่ยวกับการโจรกรรม การลักลอบขนสินค้าข้ามพรมแดน และอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น
 
------------------------------
“รัฐชาติ” คือมรดกตกทอดจากการล่าอาณานิคม (Colonial Legacy) เป็นมายาคติที่ทำลายความเป็นหนึ่งเดียวและเบียดขับความหลากหลายที่มีอยู่ในสังคมออกไป มีการสร้างเอกลักษณ์ใหม่ด้วยการนำเอาชาติไปใส่ไว้ข้างหลัง ทั้งๆ ที่พูดจาภาษาเดียวกัน
------------------------------
 
มิติสังคมวัฒนธรรมที่ผูกพันมายาวนาน
 
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-มาเลเซียในมิติทางสังคมวัฒนธรรมนั้นมีความแน่นแฟ้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะรัฐชายแดนระหว่างมาเลเซียและไทย ซึ่งสามารถเห็นประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทยในมาเลเซียที่ยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน เมื่อพูดถึงประเด็นทางสังคมวัฒนธรรม สิ่งที่แรกต้องทิ้งไว้เบื้องหลังคือ ความเป็นเขตแดนรัฐชาติ เพราะวัฒนธรรมไม่มีพรมแดน ไม่มีรัฐชาติ เมื่อไรก็ตามที่เอาความเป็นรัฐชาติไปกำกับจะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาทันที ซึ่งสามารถมองเห็นปัญหาเหล่านี้ได้ระหว่างไทยกับกัมพูชา ไทยกับลาว หรือแม้แต่มาเลเซียกับอินโดนีเซีย วัฒนธรรมรัฐชาติจะสร้างกรอบความเป็นเขาและความเป็นเรา ทำให้คนที่มีวัฒนธรรมเดียวกันมีการแบ่งแยก (identify) ว่าเป็นคนอื่นทันที เช่น ของเราต้องไม่ใช่ของเขา และของเขาต้องไม่ใช่ของเรา ซึ่งวาทกรรมทางวัฒนธรรม “รัฐชาติ” คือมรดกตกทอดจากการล่าอาณานิคม (Colonial Legacy) เป็นมายาคติที่ทำลายความเป็นหนึ่งเดียวและเบียดขับความหลากหลายที่มีอยู่ในสังคมออกไป มีการสร้างเอกลักษณ์ใหม่ด้วยการนำเอาชาติไปใส่ไว้ข้างหลัง ทั้งๆ ที่พูดจาภาษาเดียวกัน แต่เมื่อใส่คำว่า ‘ชาติ’ เข้าไป เช่น มีภาษาประจำชาติ มีเครื่องแต่งกายประจำชาติ มีวัฒนธรรมประจำชาติ และที่สำคัญที่สุดคือมีประวัติศาสตร์ชาติ เมื่อมีคำว่า ‘ชาติ’ เกิดขึ้น ประเด็นถัดมาคือการก่อให้เกิดอคติบนเชื้อชาติ อคติต่อประเทศเพื่อนบ้าน และที่สำคัญคือมีบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วในประวัติศาสตร์ต่างมีมิติทางความสัมพันธ์ที่ดีเยอะแยะมากมาย แต่สิ่งที่นำมาสู่ความเป็นรัฐชาติของประเทศนั้นคือบาดแผลทางประวัติศาสตร์ อันนี้คือสิ่งที่เป็นปัญหาในด้านความสัมพันธ์ 
 
ประชาคมอาเซียนจะยั่งยืนไม่ได้เลยหากไม่มีการสร้างความเข้าใจถึงรากฐานทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม โดยที่ไม่จำกัดอยู่กับกรอบของรัฐชาติเท่านั้น ในประชาคมอาเซียนมีหลายสิ่งหลายอย่างร่วมกัน และแน่นอนมีหลายสิ่งร่วมกันระหว่างไทยกับมาเลเซียที่สามารถนำมาสร้างความร่วมมือระหว่างกัน และเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันได้ แต่หากเลือกเอาสิ่งเหล่านั้นมาสร้างความเป็นเขาและความเป็นเรา ย่อมไม่สามารถรวมกันเป็นหนึ่งได้
 
ในมิติของวัฒนธรรมไทยและมาเลเซียพบว่าทั้งสองประเทศมีความเหมือนกันในหลายประการ มีความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นชุมชนทางวัฒนธรรม และมีวัฒนธรรมชุมชนที่เรียกว่าวัฒนธรรมพื้นเมือง (Native culture) ในความเป็นจริงแล้วทั้งไทยและมาเลเซียหรือแม้แต่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างได้รับอิทธิพลจากแหล่งเดียวกันทั้งสิ้น คืออิทธิพลจากอินเดีย (Indianization) และอิทธิพลจากจีน (Cinesization) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในประเทศไทยมีเครื่องเบญจราชกุกชภัณฑ์ มีความเหมือนกับมาเลเซียที่มี อาลัต เกอเบอซารัน ดิราชา (Alat Kebesaran Diraja) คือเครื่องแสดงถึงความเป็นกษัตริย์ และพิธีบรมราชาภิเษกของมาเลเซียนั้นพบว่าเป็นพิธีแบบพราหมณ์ที่ใกล้เคียงพิธีในราชวงศ์ไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้คือสิ่งที่เชื่อมโยงกันที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก แต่มักจะพูดถึงความแตกต่างทางด้านศาสนาและภาษา แต่จริงๆ แล้วไทยกับมาเลเซียมีรากเหง้าที่ใกล้เคียงกันมาก โดยเฉพาะระดับเชื้อพระวงศ์ที่มีวัฒนธรรมและพิธีกรรมที่ใกล้เคียงกัน
 
ความเชื่อเรื่องวิญญาณนิยม (animism) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผีสางนางไม้จะมีความคล้ายคลึงกัน เช่น ผีกระสือ และกระหัง ที่ทั้งสองประเทศมีความเชื่อในสิ่งเหล่านี้หลงเหลืออยู่ ต้องเข้าใจว่าชุมชนแถบนี้ก่อนการเข้ามาของศาสนาพุทธและอิสลาม พวกเขามีความเชื่อแบบพราหมณ์-ฮินดู ลึกไปกว่านั้นคือความเชื่อที่มาจากวิญญาณนิยมหรือความเชื่อเกี่ยวกับภูตผี และปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ตกผลึกอยู่ในสังคมไทยและมาเลเซีย เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ว่าพุทธศาสนาในประเทศไทยจึงไม่เหมือนกับพุทธศาสนาในศรีลังกาและอินเดีย เช่นเดียวกับอิสลามในประเทศไทยและมาเลเซียจะมีความแตกต่างกับอิสลามในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือการเลือกรับของทั้งสองประเทศ และมีการปรับใช้ชุดความเชื่อแบบเก่าผสานกับชุดความเชื่อแบบใหม่ จึงทำให้เกิดรากร่วมระหว่างสองประเทศนี้ขึ้น สามารถพบพิธีกรรมมากมายที่เกี่ยวกับเจ้าทรงต่างๆ ของพุทธศาสนาในอาเซียน แม้กระทั้งอิสลามยังคงมีความเชื่อเรื่องภูตผีแทรกอยู่ในวิถี หากย้อนดูสังคมมลายู (มาเลเซียและอินโดนีเซีย) สามารถพบเห็นหลักฐานเหล่านี้ได้ทั่วไป เพียงแต่ว่าเขารับมาโดยการเลือกรับและมาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีพื้นเมืองของพวกเขา ความเหมือนกันทางด้านสังคมวัฒนธรรมอีกประการหนึ่งคือ เรื่องของความเข้มแข็งของหน่วยปกครองเล็กๆ ซึ่งต่างจากชุมชนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัว หมู่บ้าน และสายใยแห่งความเป็นญาติพี่น้องในชุมชน พบว่าทั้งไทยและมาเลเซียมีความเหนียวแน่นในระดับชั้นทางครอบครัวสูงมาก
 
พหุเชื้อชาติ - ไม่มีเขา มีแต่เรา
 
ไทยและมาเลเซียมีความเป็นพหุเชื้อชาติ มีการผสมผสานทางเชื้อชาติมากกว่าสองเชื้อชาติขึ้นไป แต่ก็มีความแตกต่างกันตรงที่สังคมไทยสามารถที่จะกลมกลืน (assimilation) วัฒนธรรมได้ แต่สังคมมาเลเซียยังเป็นคงเป็นเสมือนลูกบอลสามลูกที่ไม่สามารถรวมกันได้ (integration) คือ มลายู จีน และอินเดีย  สังคมไทยและมาเลเซียเป็นวัฒนธรรมลูกผสม (Hybrid Culture)  มีการหลอมรวมกันระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมภายนอก และสร้างรูปแบบวัฒนธรรมใหม่ๆ  ขึ้นมา ผ่านสถาปัตยกรรม อาหารการกิน และเครื่องแต่งกาย ในประเทศไทยสามารถพบเห็นชุมชนญี่ปุ่น ชุมชนจีน ชุมชนมลายู เช่นเดียวกันในมาเลเซียที่มีชุมชนโปรตุเกส ชุมชนอินเดีย และชุมชนจีน เป็นต้น ไทยและมาเลเซียมีความคล้ายคลึงกันตรงที่มีวัฒนธรรมผสมผสาน เช่นในมาเลเซียมีชาว เปอรานัคกัน (Peranakan) ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ชาวจีนที่เข้ามาทำการค้าขายและแต่งงานกับชาวท้องถิ่นมาเลย์ (มลายู) ในยุคก่อนการเข้ามาของประเทศล่าอาณานิคม ชนกลุ่มนี้มีประเพณีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง สามารถพบเห็นได้ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตของไทยจนถึงเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย และ Chino-Portuguese มีปรากฏทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย
 
ในสมัยก่อนมาเลเซียและอินโดนีเซียเคยมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ปัญหาเกิดขึ้นทันทีหลังจากการแบ่งเส้นของประเทศล่าอาณานิคม ก่อให้เกิดความรู้สึกความเป็นเขาและความเป็นเรา เริ่มมีการทะเลาะกันจากการแย่งชิงวัฒนธรรมระหว่างกัน โดยต่างอ้างความเป็นเจ้าของวัฒนธรรม เช่น มีการทะเลาะเพื่อแย่งชิงความเป็นเจ้าของผ้าบาติก (Batik) อาวุธกริซ (Kris) หนังตะลุงพื้นบ้าน แม้กระทั้งเรื่องเพลง แต่ละประเทศจะอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของ ซึ่งอดีตที่ผ่านมาต่างไม่เคยใส่ใจเรื่องเหล่านี้เลย แต่มาสู่ยุคสมัยปัจจุบันเมื่อปากท้องอยู่ดีกินดี ปัญหาเหล่านี้ที่ต่างเคยมองว่าไม่ใช่ปัญหากลับกลายเป็นปัญหาขึ้นมาทันที ปัญหาเหล่านี้ดำเนินมาโดยตลอด ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ แต่นับเป็นความโชคดีที่ไม่เกิดขึ้นกับไทย ในประเทศไทยมีคนเชื้อสายมลายูในภาคใต้ แต่ไทยไม่เคยมีปัญหาการแย่งชิงวัฒนธรรมกับมาเลเซีย เหมือนที่เกิดขึ้นระหว่างมาเลเซียกับอินโดนีเซีย ภาคใต้ของไทยมีความใกล้เคียงทางด้านภาษากับมาเลเซีย แต่ไม่เคยมีการอ้างสิทธิ์ว่าใครเป็นเจ้าของภาษาที่แท้จริง ซึ่งมาเลเซียกับอินโดนีเซียทะเลาะเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ทางด้านภาษาอย่างหนัก ซึ่งตรงนี้เป็นข้อดีระหว่างไทยกับมาเลเซียที่ไม่มีความขัดแย้งในประเด็นทางวัฒนธรรม และไม่ได้หยิบยกประเด็นเหล่านี้มาสร้างความขัดแย้งจากสิ่งที่มีปัญหากันอยู่ 
 
ฉะนั้นสะพานหนึ่งที่สามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างไทยกับมาเลเซียได้คือสะพานทางวัฒนธรรม เพื่อมุ่งสู่อนาคตร่วมกัน.
 
 
 
 
 
 
 
 
 
อ้างอิง
 
สุรพงษ์ ชัยนาม, ‘นโยบายต่างประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านในยุคสงครามเย็น : ห้ากรณีศึกษาเปรียบเทียบ’, สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์, 2560.
 
MGR Online, ‘ตามรอยเสด็จฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จากหาดใหญ่สู่มาเลเซีย’, https://mgronline.com/travel/detail/9600000108041, (accessed 2 March 2019).
Kobkua Suwannathat-Pian, ‘Special Thai-Malaysian Relations’, Journal of the Malaysian Branch of the Royal Asiatic Society, Vol. 75, No. 1 (282) (2002), pp. 1-22.
 
Mahathir Mohamad, ‘The Malay Dilemma’, Marshall Cavendish, 2008.
 
ASEAN Briefing, ‘Malaysia-Thailand Trade and Economic Relations’, https://www.aseanbriefing.com/news/2017/10/05/malaysia-thailand-trade-economic-relations.html, (accessed 4 March 13, 2019).
 
Malay Mail, 'Bring peace to Southern Thailand but abide by Thai laws, Prayut tells', Malaysiahttps://www.malaymail.com/news/malaysia/2018/10/24/bring-peace-to-southern-thailand-but-abide-by-thai-laws-prayuth-tells-malay/1686282, (accessed 6 March 2019).
 
The Straits times, 'The shock election: How a Mahathir tsunami swept Malaysia', https://www.straitstimes.com/asia/the-shock-election-how-a-mahathir-tsunami-swept-malaysia, (accessed 8 March 2019).
 
ภาพประกอบ : Pexels from Pixabay

ชื่อผู้แต่ง

อารีฝีน ยามา


ประวัติผู้แต่ง

นักวิจัยระดับ A-5 ประจำศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนใจด้านความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ภาษา และความเชื่อ


ผลงานท่ีน่าสนใจ