สังคม การเมือง วัฒนธรรม ความเคลื่อนไหวเจาะลึกในเอเชีย

"ผีน้อย" ไทยในเกาหลีใต้: ความท้าทายต่อนโยบายแรงงานข้ามพรมแดน:

ด้วยค่าแรงที่เย้ายวนใจทำให้คนไทยมากมายยอมกลายเป็น "ผีน้อย" เสี่ยงอันตรายลักลอบทำงานในแดนโสม

ปัจจุบันกระแสการเดินทางไปทำงานประเทศเกาหลีใต้ของคนไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากสถิติข้อมูลของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานประเทศเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมายในปี พ.ศ. 2560 จำนวน 6,057 คน ปี พ.ศ. 2559  จำนวน 6,627 คน ส่วนในปี พ.ศ. 2558 จำนวน 5,549 คน และปี พ.ศ. 2557 จำนวน 4,482 คน จากสถิติดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าในแต่ละปีมีคนไทยเดินทางไปทำงานประเทศเกาหลีใต้มากขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 22 แต่ในปี พ.ศ. 2560 กลับลดลงเล็กน้อย 
 
ส่วนใหญ่แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้ จะเดินทางไปทำงานด้วยระบบการอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างชาติ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า EPS ย่อมาจาก Employment Permit System เป็นระบบการจ้างแรงงานต่างชาติที่ถูกกฎหมายของประเทศเกาหลีใต้ และได้ทำข้อตกลงจัดส่งแรงงานกับรัฐบาลไทยโดยกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแลและบริการจัดการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 อย่างไรก็ตามนอกจากการไปทำงานด้วยระบบจัดส่งโดยรัฐต่อรัฐแล้ว ยังมีระบบการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องอีก 4 วิธีได้แก่ 1) ไปด้วยตนเอง 2) นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน 3) นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงานและ 4) ไปกับบริษัทจัดหางาน 
 
อย่างไรก็ตามจากการศึกษาในประเด็นปัญหาของการจัดส่งแรงงานตามระบบ EPS พบว่ามีปัญหามากมาย ได้แก่ แรงงานไทยที่ประสงค์จะไปทำงานต้องผ่านการทดสอบฝีมือแรงงาน จะต้องมีทักษะด้านภาษาตามที่กำหนด เอกสารที่ใช้ดำเนินการมีจำนวนมาก และขั้นตอนการจัดส่งใช้เวลานานมาก คนงานไทยบางคนต้องรอถึง 2 ปีกว่าจะได้ไป 
 
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561 รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้วได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ประมาณ 188,202 คน เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 66,010 คน เป็นการจัดส่งโดยรัฐ (EPS) จำนวน 24,158 คน ส่วนแรงงานผิดกฎหมายที่อยู่เกินกำหนด (Over stay) และลักลอบทำงานโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยวได้อาศัยโซเชียลมีเดียติดต่อกัน แรงงานเหล่านี้ถูกขนานนามในชื่อ "ผีน้อย" มีจำนวน 122,192 คน (New18, 2561) ประเด็นการลักลอบเข้าไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ของคนไทยไม่มีทีท่าว่าลดลง และสำนักงานตรวคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ตรวจจับแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้าเมืองได้จำนวนมากในแต่ละปี ประเด็นนี้กำลังเป็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพิจารณายกเลิกฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวไทย และหากเป็นเช่นนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อการเที่ยวระหว่างประเทศเกาหลีใต้และประเทศไทยอย่างแน่นอน
 
อย่างไรก็ตามการจัดส่งแรงงานไทยด้วยบริษัทจัดหางานยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีใต้ยอมรับการจัดส่งแรงงานเข้าไปทำงานด้วยระบบ EPS เท่านั้น แต่ก็มีแรงงานไทยจำนวนมากยังคงลักลอบเข้าไปเกาหลีใต้ โดยหวังค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูงและต้องการไปแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า นอกจากนั้นการลักลอบเดินทางไปเกาหลีใต้มีการทำเป็นกระบวนการ โดยมีนายหน้าที่เป็นคนไทยเป็นคนให้ข้อมูลการทำงานและรายได้ที่จะได้รับในต่างประเทศ และยังเป็นคนไทยที่เคยไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ก่อนแล้วและผันตัวเป็นนายหน้าเพื่อหาคนไทยไปทำงานให้กับนายจ้างเกาหลีใต้ นอกจากกระบวนการนายหน้าแล้ว ยังมีวิธีที่สามารถนำพาคนไทยลักลอบเข้าไปทำงานในต่างประเทศได้อีก 5 วิธีดังนี้ 
 
1) ไปกับบริษัทท่องเที่ยว วิธีนี้จะใช้การแอบอ้างการนำเที่ยวเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดหางานโดยผิดกฎหมาย ด้วยวิธีพาคนไทยไปประเทศเกาหลีใต้ในฐานะนักท่องเที่ยว ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่สามารถเดินทางเข้าไปได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า ซึ่งประเด็นนี้กำลังเป็นเรื่องน่าวิตกสำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่ต้องการเข้าไปท่องเที่ยวจริงๆ เพราะเนื่องจากคนไทยลักลอบเข้าทำงานด้วยวิธีนี้มีจำนวนมากทำให้กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองเข้มงวดกับคนไทยมากขึ้น จนเกิดการส่งกลับนักท่องเที่ยวไทยเนื่องจากไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองมาแล้ว 
 
2) บริษัทจัดหาคู่ วิธีนี้เริ่มจากการให้บริการโดยส่งหญิงไทยไปสมรสกับชายต่างชาติ โดยมีภาพถ่ายของหญิงไทย หรือรูปชายต่างชาติแสดงบนเว็บไซต์ให้ทั้งสาวไทยและชายต่างชาติที่ประสงค์จะแต่งงานกันได้เลือก แต่แท้จริงแล้วเป็นการหลอกหญิงไทยเดินทางไปยังประเทศปลายทางเพื่อสมรสปลอม แต่หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการค้าประเวณี ต่อมาบริษัทได้เปลี่ยนบริการมาเป็นการส่งหญิงไทยไปทำงานบริการทางเพศโดยแอบแฝงในต่างประเทศด้วย หญิงไทยบางรายรู้เท่าไม่ถึงการณ์และตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในต่างประเทศ 
 
----------------------------
แรงงานไทยที่ทำงานกิจการโรงงานขนาดเล็กและสปาเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้ทำงานในรอบต่อไปโดยตัวแรงงานเองไม่สมัครใจ ทำงานเลยกำหนดเวลาทำงานปกติ แต่ไม่ได้รับค่าล่วงเวลา หรือถูกบังคับให้ค้าประเวณี
----------------------------
 
 
3) โรงเรียนสอนภาษา วิธีนี้จะอาศัยช่องทางในประเทศปลายทางในด้านการศึกษา โดยอาศัยการกำหนดให้ผู้ที่จะมาขอวีซ่าไปทำงานในประเทศต้องมีความรู้ด้านภาษาของประเทศนั้น ทำให้เกิดโรงเรียนที่เปิดขึ้นเพื่อสอนภาษาดังกล่าว อย่างไรก็ตามโรงเรียนสอนภาษาบางแห่งก็ทำหน้าที่จัดหางานด้วย เพราะผู้ที่มาเรียนภาษาส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องการเข้ามาหางานทำในต่างประเทศ และโรงเรียนบางแห่งในต่างประเทศเปิดสอนภาษาบังหน้าเพื่อจัดหางานผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน
 
4) โรงเรียนฝึกอาชีพ รูปแบบโรงเรียนนี้จะเสนอให้แรงงานที่จะไปทำงานต่างประเทศในตำแหน่งงานช่างจะต้องผ่านการทดสอบฝีมือแรงงาน จึงมีโรงเรียนเปิดฝึกฝีมือช่างขึ้น เพื่อเตรียมคนงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนฝึกฝีมือแรงงานของบริษัทจัดหางานที่ต้องการส่งคนงานไปทำงานในตำแหน่งช่างฝีมือต่างๆ ส่วนอาชีพอื่นๆที่มีโรงเรียนเปิดสอนอาชีพและโฆษณาว่าจะสามารถไปทำงานต่างประเทศได้ ก็มีอาชีพการนวดแผนไทยและนวดสปารวมอยู่ด้วย ซึ่งอาชีพการนวดแผนไทยและนวดสปาเป็นอาชีพต้องห้ามสำหรับคนต่างชาติในประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากสงวนให้กับคนพิการทางสายตาชาวเกาหลีใต้ทำเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การบริการนวดแผนไทยเป็นที่นิยมของชาวเกาหลีใต้ และด้วยความต้องการของชาวเกาหลีใต้จำนวนมาก ทำให้กิจการนี้เฟื่องฟูขึ้นและเป็นที่แสวงหาประโยชน์สำหรับนายจ้างชาวเกาหลีใต้กับแรงงานข้ามชาติที่เข้าทำงานประเภทนี้ และหนึ่งในนั้นคือหญิงไทย        
 
5) นายหน้าบนสื่อออนไลน์ กระบวนการนี้กำลังเป็นที่นิยมและแพร่หลายในปัจจุบันมาก โดยนายหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อในสื่อออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊ค หรือเว็บไซต์จัดหางานต่างๆ โดยจะเสนอเงินเดือนที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกิจการนวดแผนไทยและงานเกษตร ซึ่งงานเหล่านี้เป็นงานที่เข้าไปทำงานด้วยนายหน้าหรือบริษัทจัดหางานไม่ได้ นอกจากนั้นยังเสนอว่างานนวดแผนไทยจะได้รับค่าตอบแทนพิเศษอีกต่างหาก ซึ่งแท้จริงแล้วคือการบังคับให้หญิงที่นวดแผนไทยหรือนวดสปาค้าประเวณีด้วย อย่างไรก็ตามมีหญิงไทยจำนวนหนึ่งที่สมัครใจที่จะค้าประเวณีด้วยเนื่องจากต้องการรายได้ที่มากขึ้น (สมาน เหล่าดำรงชัย, 2560) 
 
จากการศึกษาของสมาน เหล่าดำรงชัย (2560) ในด้านสภาพการทำงานของแรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้พบว่า ส่วนใหญ่แรงงานไทยที่ลักลอบเข้าเมือง นายจ้างจะให้แรงงานทำงานและอาศัยอยู่ในสถานประกอบการเท่านั้น เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐของเกาหลีใต้ และเอกสารต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือเดินทางจะถูกนายจ้างยึดเอาไว้ด้วย เนื่องจากนายจ้างเกรงว่าเมื่อแรงงานทำงานได้ระยะหนึ่งจะหลบหนีไปทำงานกับนายจ้างคนอื่นที่ให้ค่าจ้างที่สูงกว่า หรือไปทำงานกับญาติพี่น้องในสถานประกอบการอี่น ส่วนใหญ่กิจการที่แรงงานไทยลักลอบเข้าไปทำงานได้แก่ นวดสปา เกษตรกรรมและกรรมกรในโรงงานขนาดย่อม 
นอกจากนั้นตามกฎหมายแรงงานของประเทศเกาหลีใต้ได้บัญญัติให้แรงงานต่างชาติที่ต้องการย้ายงาน หรือเปลี่ยนนายจ้าง ต้องได้รับความยินยอมจากนายจ้างคนเดิมเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนจึงสามารถย้ายงานได้ ประเด็นนี้เองทำให้แรงงานต่างชาติหลายราย รวมถึงแรงงานไทยหลบหนีออกจากสถานประกอบการ หรือเข้าไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยเช่น สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล และสำนักงานแรงงานไทยประจำกรุงโซลเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากนายจ้างเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง เช่น ให้ทำงานล่วงเวลา แต่ลูกจ้างไม่ได้รับเงินค่าล่วงเวลา หรือจ่ายค่าจ้างไม่ตรงกับที่สัญญาจ้างกำหนดไว้ เป็นต้น 
 
ส่วนประเด็นความเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงานและตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศเกาหลีใต้ หากลักลอบเข้าไปทำงานนั้น พบว่า ส่วนมากแรงงานที่เสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงานและตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้แก่ งานนวดสปาและกรรมกรในโรงงานขนาดย่อม ซึ่งงานเหล่านี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของงานและผู้ใช้บริการ ดังนั้นแรงงานไทยที่ทำงานกิจการเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกบังคับให้ทำงานในรอบต่อไปโดยตัวแรงงานเองไม่สมัครใจ ทำงานเลยกำหนดเวลาทำงานปกติ แต่ไม่ได้รับค่าล่วงเวลา หรือถูกบังคับให้ค้าประเวณีในกรณีหญิงไทยที่ทำงานนวดสปา ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทำให้แรงงานไทยหลายรายทนกับสภาพการทำงานไม่ไหว จึงหลบหนีหรือร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ของรัฐเกาหลีใต้และรัฐไทยในการขอย้ายงาน จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ไทยในประเทศเกาหลีใต้พบว่า ในปี พ.ศ. 2558  มีผู้ร้องทุกข์รวมทั้งสิ้น 2,834 คน สามารถติดตามสิทธิ์ได้ 2,532 คน และอยู่ระหว่างการดำเนินการ 302 คน กรณีเรื่องร้องทุกข์ได้แก่ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทดแทนในกรณีบาดเจ็บ เป็นต้น
 
จากการศึกษาประเด็นมาตรการการผลักดันและการลดจำนวนผู้ที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายของประเทศเกาหลีใต้ พบว่า รัฐบาลเกาหลีใต้มีนโยบายสนับสนุนการขอเดินทางกลับโดยสมัครใจสำหรับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย โดยกระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้มีระบบสำหรับแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมาย สามารถขอเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนาด้วยความสมัครใจ สามารถยื่นขอเดินทางกลับได้ทุกเมื่อที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกแห่ง ซึ่งอยู่ในท่าอากาศยานหรือเมืองท่า 
 
สำหรับแรงงานต่างชาติที่อาศัยอย่างผิดกฎหมายที่ขอกลับภูมิลำเนาด้วยตนเองจะได้รับผลประโยชน์ต่อไปนี้คือ 1) ได้รับยกเว้นค่าปรับโดยไม่เกี่ยวกับระยะเวลาที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย 2) ไม่ถูกกักในสถานกักกันและสามารถเดินทางกลับสู่ประเทศภูมิลำเนาได้อย่างอิสระและมีเกียรติ 3) ได้รับการผ่อนผันลดระยะเวลาที่ถูกขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศ หรือ 4) ได้รับการผ่อนผันเลื่อนระยะเวลาดำเนินการขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศตามระยะเวลาที่พำนักอาศัยในประเทศเกาหลีเกินระยะเวลา 
 
ส่วนกรณีที่ถูกจับกุมและถูกขับไล่ออกนอกประเทศจะถูกขึ้นบัญชีดำห้ามเดินทางเข้าประเทศเป็นระยะเวลามากที่สุด 10 ปี แต่หากเมื่อแจ้งขอเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนาด้วยตนเองจะได้รับการยกเว้นถูกขึ้นบัญชีดำหรือได้รับการผ่อนผันลดระยะเวลาห้ามเข้าประเทศอย่างมากที่สุด 2 ปี หากมีการยื่นขอวีซ่าอีกครั้งการเดินทางกลับครั้งนี้จะมีผลต่อการพิจารณาวีซ่าในครั้งหน้า
 
นอกจากการกวดขันของทางเจ้าหน้าที่ฝั่งเกาหลีใต้และนโยบายสนับสนุนการขอเดินทางกลับโดยสมัครใจทางการไทยโดยกระทรวงแรงงานก็มีนโยบายเชิงรุกจัดหาตำแหน่งงานให้กับ “ผีน้อย” เหล่านี้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามปัญหาการลักลอบไปทำงานในประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่าก็ยังคงเหมือนจะไม่หมดไปง่ายๆ ตราบที่ปัจจัยเกื้อหนุนยังคงอยู่ อาทิ ลำดับการพัฒนาของแต่ละประเทศยังลดหลั่นไปตามขั้นและที่สำคัญยังมี “ความต้องการ” แรงงานนอกประเทศจากนายจ้างในประเทศเอง เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทยต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเสมอมา. 
 
 
 
 
 
 
 
ขอบคุณภาพประกอบ: ธนกร โสพันธ์ 
 
เอกสารอ้างอิง 

1. กองบริหารแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ. 2561. สถิติจำนวนคนหางานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ จำแนกตามภูมิลำเนา ประเทศและวิธีการเดินทาง ประจำปี พ.ศ. 2557 - 2560. กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน, สิงหาคม 2561. 

2. สมาน เหล่าดำรงชัย, 2560. การบริหารจัดการแรงงานไทยย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศในศตวรรษที่ 21. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560.  

3. New 18. 2561. รมว.แรงงานเร่งแก้ปัญหา “ผีน้อย” กว่า 1.2 แสนคน. (ออนไลน์) 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561. แหล่งที่มา: http://www.newtv.co.th/news/22327.  เข้าถึงเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561. 

 

บทความอื่นๆ ในฉบับ

ฉบับที่ 1 มกราคม - เมษายน 2562

ชื่อผู้แต่ง

สมาน เหล่าดำรงชัย


ประวัติผู้แต่ง

นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มาหวิทยาลัย


ผลงานท่ีน่าสนใจ

ผลกระทบของการย้ายถิ่นข้ามชาติต่อชุมชนชายแดน: การสร้างความกลมกลืนและความมั่นคงในชุมชน